สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข

17 ธันวาคม 2566 1,614

ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข

ดอยสเตอร์ โนแมด- Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข

 

"เสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชน คือ การที่คุณมาเที่ยวสิบครั้ง จะได้รับประสบการณ์สิบแบบ"

"การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวที่ออกแบบให้ชุมชนเป็นฐาน ชุมชนต้องมีความตั้งใจ มีส่วนร่วมในการพัฒนาออกแบบเส้นทางการเที่ยว และเห็นเป้าหมายร่วมกัน" นี่คือแนวทางสำคัญในการพัฒนาและการดึงเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนที่ คุณปุ๊ - สมภพ ยี่จอหอ ผู้ประกอบการจากโครงการ “ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข” ภายใต้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยึดถือมาโดยตลอด

 

คุณปุ๊ - สมภพ ยี่จอหอ ผู้ประกอบการ
โครงการ “ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข”

พี่ปุ๊ ผู้มีพื้นเพเป็นคนโคราช แต่ทั้งตัวและใจตอนนี้อยู่ที่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ผู้คร่ำวอดในวงการการสื่อสารท่องเที่ยวชุมชนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้ขอรับการสนับสนุนจาก NIA ในปี พ.ศ. 2564 ในโครงการที่ถูกที่ถูกเวลา จากการตั้งคำถามเรื่อง “ทำไมฝรั่งมาเที่ยวที่ อ.ปางมะผ้า (จ.แม่ฮ่องสอน) เยอะจัง ทำยังไงให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นบ้าง?” หลังผ่านกระบวนการระดมความคิดร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT: Community Based Tourism ของแม่ฮ่องสอน ทั้ง 16 ชุมชน ในการมาร่วมคุย ร่วมวิเคราะห์ถึงจุดเด่นของชุมชน ปัญหาที่ชุมชนพบเจอ และโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งพบโอกาสจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้คน และเห็นปัญหาเกี่ยวกับการหมดไฟในการทำงาน หรือต้องการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน มีการเพิ่มขึ้นของการทำงานในร้านกาแฟ และมักมีกลุ่มที่เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานพาตัวเองไปสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น

 

และปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้เกิดรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่คนจำนวนมากไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ การใช้ชีวิตทำงานในห้องคนเดียวกลับกลายเป็นความปกติ เมื่อพบโอกาสนี้ พี่ปุ๊จึงมีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการท่องเที่ยว ในส่วนของฝ่ายผู้ให้บริการการท่องเที่ยว (ชุมชน) ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การบริการของชุมชน พื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการทำงาน เพื่อตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นักท่องเที่ยวที่ต้องการเปลี่ยนการทำงานจาก Work From Home เป็น Work From Anywhere ได้ หรือเทรนด์ที่เรียกว่า ทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วย (Workation) กลายเป็นโครงการ“ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข” ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีภูมิศาสตร์อยู่ระหว่าง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยในพื้นที่นั้น มีจุดเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และชีวิตความเป็นอยู่ที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างน้อย 3 กลุ่ม

DoiSterนอกจากนี้โครงการยังมีการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างกลไกการจัดการทัวร์ สำหรับจัดการการท่องเที่ยว และมีการพัฒนากลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่สำหรับการบริการนักท่องเที่ยวแต่ละคน โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก ไม่เพียงแต่สามารถนั่งทำงานคนเดียวได้อย่างมีความสุข ในช่วงพักหรือเลิกงาน แต่ยังสามารถลงไปคลุกคลีสัมผัสวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้อีกด้วย

doister

โดยพี่ปุ๊เอง ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่าง Supply และ Demand โดยทางฝั่ง Supply หรือ ฝั่งชุมชน ก็ต้องเข้าใจความต้องการของคนที่มาเยือน และพัฒนารูปแบบการบริการ ยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ แต่ขาดไม่ได้ ของคนในเมืองอย่างสัญญาณ WiFi และ กาแฟสด ซึ่งภายหลัง พี่ปุ๊ได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์เรื่องการทำกาแฟดริปด้วยอุปกรณ์จากไม้ไผ่ให้ซื้อกลับเป็นที่ระลึกได้ และพัฒนากลายเป็นเอกลักษณ์ที่ใครมาก็อยากเช็คอิน ถ่ายภาพชุมชนทำกาแฟดริปให้ในตอนเช้า มีการออกแบบแผนการท่องเที่ยวให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่ชุมชนคุ้นเคยกับการรับเงินจาก Package ทัวร์ท่องเที่ยว กลายเป็นพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่ชุมชนจะพาเที่ยวเอง โดยมาจากความต้องการของผู้เข้าพัก รวมถึงการสื่อสารในฝั่ง Demand ที่ทีม “ดอยสเตอร์” เอง (แปลว่า ชาวดอย ตามคำนิยามของพี่ปุ๊) ขยันลงมาออกบูธประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ และขายความเป็นเอกลักษณ์จากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งเสื้อผ้าทอมือปักลายเอกลักษณ์ และหัตถกรรมข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ เพื่อให้คนเมืองทั่วไป ค่อย ๆ ซึมซาบเสน่ห์ของวัฒนธรรมและผู้คนเมืองแม่ฮ่องสอน

doister

จนถึงวันนี้ โครงการดอยสเตอร์ โนแมดและทีมก็ยังได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวแบบ Workation ซึ่งพี่ปุ๊บอกเราว่าผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ นักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรมอยู่เที่ยวในชุมชนนานมากขึ้น และสินค้าจากพี่น้องชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับ ชาวบ้านขายสินค้าได้มากขึ้น โดยไม่ละทิ้งรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ระมัดระวังเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากการที่ผู้ซื้อรับรู้เรื่องราวของสินค้าและยอมซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น รวมถึงชุมชนมีความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นทางเลือกและความหวังให้คนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ถนัดทำการเกษตรแบบเมื่อก่อน

doister

อย่างไรก็ดี พี่ปุ๊เองก็ยอมรับว่า การเดินทางจากแม่ฮ่องสอน ไป-กลับ พื้นที่ต่าง ๆ นั้น ใช้พลังกายไม่น้อยกว่าพลังใจเลย ดังนั้นในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนนี้ พี่ปุ๊ก็เริ่มผันตัวมาเป็นผู้ถ่ายถอดวิชา เป็นที่ปรึกษาให้ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้พวกเขาลงมาสัมผัสและพบเจอประสบการณ์การขายและการเล่าเรื่องราวมากขึ้น พัฒนามาเป็นผู้ผลักดันให้ชุมชนสามารถสื่อสารความเป็น “ดอยสเตอร์” ในรูปแบบของชุมชนเอง ด้วยแนวคิด “Stay Longer, Learn More” และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการต่อในอนาคต คือ การพัฒนาองค์ความรู้ที่หลากหลายระหว่างทาง ให้กลายเป็นสื่อที่เข้าใจง่ายกระจายไปยังช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Offline และ Online เก็บรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ซื้อ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนางานหัตถศิลป์ และ สื่อสาร Story ให้สอดคล้องกับยุคสมัย สร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนอื่น สร้างระบบนิเวศเครือข่ายเพื่อผลักดัน “ดอยสเตอร์” ให้ไปไกลและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล โดยพี่ปุ๊ก็ได้แสดงความขอบคุณ NIA ที่สนับสนุนโครงการ เปรียบดังเชื้อตั้งต้น ให้พี่น้องชาติพันธุ์เห็นความเป็นไปได้และได้เปิดใจทดลองเปลี่ยนวิธีการดูแลนักท่องเที่ยว สร้างวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ จนเติบโตเป็น “ดอยสเตอร์” อย่างเช่นทุกวันนี้

DoiSter

ก่อนจะจากกัน พี่ปุ๊ได้ให้ข้อคิดกับนักพัฒนารุ่นใหม่ โดยใจความ คือ “การทำงานกับชุมชนนั้นต้อง อดทน-ถอดบทเรียน-ฟังคำแนะนำ-พัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการที่ใช้เวลา แต่สามารถทำให้เร็วขึ้นได้ ด้วยการแลกเปลี่ยนและเปิดใจระหว่างชุมชน” มาจนถึงวันนี้พี่ปุ๊และทีมก็ยังไม่หยุดที่จะโปรยเมล็ดพันธุ์นี้ ดังความตั้งใจในการขับเคลื่อนชุมชนในรูปแบบ “Insight Out – Outside In ดึงเสน่ห์จากภายใน เชิญให้คนภายนอกมาท่องเที่ยว”

ดอยสเตอร์

 

  • ช่องทางการติดต่อโครงการ: Facebook “DoiSter ดอยสเตอร์” https://www.facebook.com/doisterwannabe 
  • ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก: Facebook “DoiSter ดอยสเตอร์” และ คุณปุ๊ นายสมภพ ยี่จอหอ เจ้าของโครงการ“ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข”

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)