สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Deep Tech: Startup ที่เป็นมากกว่า Startup

บทความ 3 กรกฎาคม 2562 20,772

Deep Tech: Startup ที่เป็นมากกว่า Startup


“Limitless” หรือ “ไร้ขีดจำกัด” ดูจะเป็นคำอธิบายศักยภาพด้านการพัฒนาของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งนี้นำพาเราไปสู่สังคมที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในตอนนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไกลจนอยู่ในจุดที่เรามาสารถใช้ประโยชน์ได้นับไม่ถ้วน แต่เราก็ยังคงมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาต่อไป ไม่เพียงแต่ในแวดวงนักวิจัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสายธุรกิจอย่างวงการ Startup อีกด้วย


แต่เดิม Startup เติบโตได้ด้วยการจับคู่ไอเดียที่แปลกใหม่เข้ากับการเทคโนโลยีทั่วไป กลายเป็นธุรกิจที่ตีตลาดด้วยบริการที่ไม่เหมือนใคร เช่น บริการรับส่งคน พัสดุ หรืออาหาร แต่ปัญหาของ Startup เหล่านี้ คือ การไม่มีจุดแข็งในระยะยาว ทำให้คู่แข่งเลียนแบบและพัฒนาระบบให้ดีกว่าได้ในเวลาอันสั้นแล้วตีตื้นขึ้นมาแย่งพื้นที่ในตลาดได้อย่างรวดเร็ว จนหลาย ๆ ครั้งก็ต้องพ่ายแพ้ไปเพราะคิดกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาตอบโต้ไม่สำเร็จ Startup หลายรายจึงเริ่มมองหาทางออกในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในทางออกนั้น คือ Deep Tech นั่นเอง

Deep Tech


Deep Tech (Deep Technology) หรือเทคโนโลยีขั้นสูง คือ ผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ลอกเลียนแบบได้ยาก และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองเพราะผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างยาวนาน ตัวอย่าง Deep Tech ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ AlphaGo ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียนรู้ด้วยการเก็บข้อมูลจากการเล่นเกมโกะ (กระดานหมากล้อม) กับมนุษย์แล้วประมวลผลข้อมูลจนเข้าใจกติกา และพัฒนาแนวการเล่นขึ้นเรื่อย ๆ จนเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกได้สำเร็จ ความซับซ้อนของ AlphaGo นี้เองที่เป็นจุดแข็งที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก ผลลัพธ์อันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นด้วยแรงกระตุ้นจากประเด็นใหญ่ระดับมหภาคที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น

ประเภทของ Deep Tech


Deep Tech Startup ถือเป็น Startup ที่ก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นของใหม่ ซับซ้อน คู่แข่งน้อย มีความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว ในไทยเองก็มีการสนับสนุน Deep Tech Startup เช่นกัน เห็นได้จากโครงการ U.REKA ที่มีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ให้เกิดขึ้นจริง โดยโครงการจะสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการปล่อยออกสู่ตลาดให้กับ Startup ที่สนใจและต้องการใช้ Deep Tech คิดค้นนวัตกรรม


ปัจจุบันมี Deep Tech Startup เกิดขึ้น 8 ประเภท ได้แก่

1. Artificial Intelligence (AI) : ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้ฉลาด รู้จักวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล วางแผน และตัดสินใจได้ เช่น ระบบค้นหาและจองสายการบินของ Sky Scanner ระบบจดจำเสียงและใบหน้าบนสมาร์ทโฟน

2. Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) : AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เกม Pokemon GO หรือคิวอาร์โค้ดสำหรับแสกนเป็นภาพ 3 มิติในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต่างจาก VR ที่เป็นการจำลองโลกจริงในโลกเสมือน (Simulation) โดยอาศัยแว่น VR เป็นตัวช่วย เช่น เกม PlayStation VR

3. Internet of Things (IoT) : การเชื่อมโยงทุกอย่างสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อและสั่งการได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า การตั้งค่าให้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำส่งสัญญาณเตือนเข้ามือถือคนในชุมชนเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง

4. Blockchain : เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เป็นโครงข่ายไร้ศูนย์กลาง เชื่อถือได้ ชุดข้อมูลจะตรงกันทุกชุด สามารถตรวจสอบและป้องกันการแก้ไขข้อมูลได้ นำมาใช้ประโยชน์ในการทำสัญญาที่ทุกคนจะเห็นต้นฉบับตรงกัน

5. Biotech : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวภาพ เช่น การสร้างกระดูกเทียมด้วยการพิมพ์สามมิติด้วยไทเทเนียมของ Meticuly บริษัท Startup ของไทย 

6. Robotics : วิทยาการหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น YOMI หุ่นยนต์ทันตกรรม Atlas หุ่นยนต์ขนของกู้ภัย

7. Energy : การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบพลังงาน เช่น แบตเตอรีลิเธียมแอร์ (Lithium-air Battery) ที่ดึงออกซิเจนรอบตัวมาใช้ ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น การใช้อัลกอริธึ่มอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารแบบเรียลไทม์ ลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 40

8. Spacetech : เทคโนโลยีอวกาศ เช่น เทคโนโลยีส่งข้อมูลหรือติดต่อสื่อสารระหว่างโลกและอากาศยาน การสำรวจนอกโลก การวิเคราะห์ข้อมูลวัตถุอวกาศ

การที่ไทยตื่นตัวเรื่อง Deep Tech Startup นั้นถือเป็นเรื่องดี แต่การสนับสนุนและเตรียมความพร้อมจากภาครัฐอย่างเต็มที่ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว ไทยยังคงต้องพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้ครบวงจรเพื่อปูทางให้ทุกฝ่ายมาเจอกัน ทั้งตัว Startup เอง นักวิจัย นักลงทุน และฝ่ายอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้ Deep Tech Startup เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และตอบโจทย์โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ในการใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง



.

แหล่งที่มา:

https://techsauce.co/tech-and-biz/deep-tech-change-the-world/ https://www.marketingoops.com/news/tech-update/deep-tech-startup-is-coming/ https://www.startupthailand.org/deep-tech-startup-for-the-future-th/ https://www.blognone.com/node/101675 https://www.facebook.com/ThailandStartup/posts/1874146889262306/ https://www.smethailandclub.com/startups-3411-id.html http://media-publications.bcg.com/from-tech-to-deep-tech.pdf