สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ถาม ChatGPT ตอบ จะเป็นอย่างไรเมื่อ AI ตอบปัญหาเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจฐานราก”

20 มกราคม 2566 1,966

NIA ถาม ChatGPT ตอบ จะเป็นอย่างไรเมื่อ AI ตอบปัญหาเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจฐานราก”

ต้านกระแสไม่ไหว เลยต้องขอมาลองเล่นบ้าง! จะเป็นอย่างไรเมื่อ AI สุดฮิตติดเทรนด์อย่าง “ChatGPT” จะมาตอบคำถามที่ซับซ้อนที่สุดอย่างเรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก” กัน คำตอบที่ได้จะปังแค่ไหน ไปดู!

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ChatGPT นวัตกรรม AI จาก OpenAI ที่จะมาช่วยตอบทุกคำถามคล้ายๆ กับมีเลขาส่วนตัวอยู่กับตัว ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คงเหมือนกับมี Jarvis ที่อยู่คู่กับ Ironman ตลอดเวลา แล้วมันพิเศษยังไง เพราะก็ดูไม่ต่างอะไรกับ Siri หรือ Google Assistant ความแตกต่างของมันอยู่ตรงที่ AI ตัวนี้คือ Chatbot ที่พัฒนามาจากโมเดล GPT-3 ซึ่งจะเป็นการเทรนด์ AI ด้วยข้อมูลมหาศาล เพื่อตอบกลับข้อความได้ในหลายรูปแบบ แถมมีบทสนทนาคล้ายกับที่มนุษย์พิมพ์ออกมา จุดนี้เองทำให้สร้างความฮือฮากับผู้ใช้ได้

ไม่ว่าจะเป็นคำถามง่ายๆ เช่น พรุ่งนี้คือวันอะไร ไปจนถึงคำถามที่ซับซ้อน มีความเป็นมนุษย์สูง เช่น อกหักทำอย่างไรดี หรือเอาไปช่วยคิดไอเดียใหม่ๆ ช่วยเขียนโปรแกรม ChatGPT ก็จะไปสรรหาคำตอบมาให้คุณได้ นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะลองนำนวัตกรรมนี้มาช่วยตอบปัญหาที่ซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งอย่างเรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก” หรือ “Local Economy” กัน ว่ามันจะมีคำตอบหรือข้อคิดเห็นอย่างไร และเมื่อได้คำตอบแล้วเราก็ขอชวนทุกคนเข้ามาทำความรู้จักกลไกการสนับสนุนของ NIA ที่จะมาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ถ้าพร้อมแล้วมาติดตามไปพร้อมกันเลย

NIA ถาม : เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) คืออะไร

ChatGPT ตอบ : เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) หมายถึงกลุ่มเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดหรือภูมิภาคในประเทศ เน้นในการส่งเสริมการทำธุรกิจของผู้คนพื้นที่ในเขตพื้นที่ โดยจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตและมีผลต่อการพัฒนาของพื้นที่นั้นๆ ต่อไป เช่น การช่วยเพิ่มรายได้ของผู้คนในพื้นที่นั้น และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

NIA ถาม : ทำไมสังคมมนุษย์ถึงเกิดความเหลื่อมล้ำ

ChatGPT ตอบ : สังคมมนุษย์มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมาก มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การแบ่งแยกสังคมตามชนชั้นที่มีผลต่อการแบ่งปันสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การมีแนวทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในสังคม หรือการมีการปกครองและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเกิดสงคราม ฯลฯ

แล้ว NIA เองมีการส่งเสริมกลุ่มเศรษฐกิจนี้อย่างไร

NIA มีส่วนช่วยส่งเสริมตั้งแต่การกระจายองค์ความรู้นวัตกรรม ทุนนวัตกรรม และการพัฒนาเครือข่าย ผ่านโครงการต่างๆ ของฝ่าย “นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation)”

โครงการที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) มีดังนี้

• โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City and Community Innovation Challenge) เป็นโครงการที่ NIA จะกำหนดโจทย์ปัญหาสำหรับนวัตกรรมเมืองเพื่อที่จะสร้างต้นแบบการแก้ปัญหาสังคมในระดับพื้นที่ทั้งในเขตเมือง ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง โดยสามารถแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมืองได้ เปิดรับข้อเสนอแนวคิด ไอเดียการพัฒนาในหลากหลายมิติ ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุน 1.5 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ โดยจะต้องได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยในปี 2566 ก็ได้กำหนดประเด็นท้าทาย 3 หัวข้อ ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชีวิตคนทุกช่วงวัย

• โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) เป็นโครงการที่อาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Diffusion) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านสังคมปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วร่วมกับองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่อง โดยในปี 2566 นี้กำหนดพื้นที่ใน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 9 ตำบล ของจังหวัดร้อยเอ็ด และชุมชนเมืองลุง จังหวัดพัทลุง พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ 26 ตำบล ของจังหวัดพัทลุง

• โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา (Sectoral Social Innovation Project) เป็นโครงการที่เปิดรับข้อเสนอโครงการจากทั่วทั้งประเทศ สนับสนุนความหลากหลายของแนวคิดนวัตกรรม สู่การพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยทั้ง 9 มิติ ได้แก่ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านภาครัฐและความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ

• หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit : SID) เป็นความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ในการเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ การวิจัย ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือผู้ที่สนใจในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมจนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ผ่านกิจกรรมเครือข่าย การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและการบ่มเพาะ โดยหวังว่าจะเกิดนวัตกรเพื่อสังคม และกิจการเพื่อสังคมที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง และแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทำความรู้จักฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://social.nia.or.th/

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://openai.com/blog/openai-api/
https://thematter.co/social/chatgpt-2022/192880