สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ว่าด้วยเรื่อง ‘เงินทุน’ ของธุรกิจนวัตกรรม กับความท้าทายที่สตาร์ทอัพไทยต้องเจอ

20 สิงหาคม 2567 2,200

ว่าด้วยเรื่อง ‘เงินทุน’ ของธุรกิจนวัตกรรม กับความท้าทายที่สตาร์ทอัพไทยต้องเจอ

💡 หลายคนมีไอเดียในการประกอบธุรกิจ แต่กลับถูกพับโครงการเพราะขาดการสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน 

💵 ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แหล่งเงินทุน” คือ ทรัพยากรสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกลไกซับซ้อน เพราะเงินทุนที่ธุรกิจต้องการ มีความแตกต่างกันไปตามการเติบโตของธุรกิจแต่ละขั้น NIA หน่วยงานสนับสนุนทุนในการทำธุรกิจนวัตกรรม บ่มเพาะองค์ความรู้ และเชื่อมโยงความร่วมมือผ่านโครงการต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการปรับกลไกทุนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

🤝 ทว่าในระบบนิเวศนวัตกรรม NIA มีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่คอยสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ซึ่งในงาน "STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO 2024" หรือ SITE 2024 ที่ผ่านมา NIA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ได้เปิดเวทีเสวนา “การเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับภาคธุรกิจ ถึงความท้าทายเรื่องการเข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุนจากเครือข่ายที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมไปในทิศทางเดียวกัน

🔎 แล้วสถานการณ์สตาร์ทอัพในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวกันอย่างไรบ้าง…?

📉 ข้อมูลจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยได้รวบรวมให้เห็นว่า สัดส่วนของสตาร์ทอัพที่มีจำนวนมากที่สุดเวลานี้ จะอยู่ในขั้นที่เป็น Idea Stage ในขณะที่สตาร์ทอัพที่สามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาสำหรับใช้งานจริงมีเพียงแค่ 20% ส่วนสตาร์ทอัพที่สร้างรายได้มีอยู่ 5% และท้ายที่สุดคือสตาร์ทอัพที่เติบโตจนเห็นผลกำไรจริงมีเพียงแค่ 1% เท่านั้น

🚀กลับกันกับสถานการณ์ภาคการลงทุน ณ ปัจจุบัน เพราะนักลงทุนมีความคาดหวังสูงขึ้นในการลงเม็ดเงิน โดยแต่ละครั้งนักลงทุนไม่ได้ต้องการแค่เห็นสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่อยากเห็นผลลัพธ์ของผู้ใช้งานจริงหรือตัวเลขในเชิงของผลกำไร และจะพบว่านักลงทุนส่วนมาก ไปกระจุกตัวอยู่กับสตาร์ทอัพในขั้นที่สามารถสร้างรายได้ และขั้นที่สร้างกำไรได้มากที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากในตลาด

💰 ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ให้เกิดการลงทุนจากกลุ่ม Angle Investor และ Venture Capital มากขึ้น เพื่อมาสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในช่วงแรก โดยประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือต้องเป็นนักลงทุนที่เข้าใจกลไกการลงทุนในสตาร์ทอัพ สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ขณะที่สตาร์ทอัพเองก็ต้องวางแผนการเติบโตและมองหาโอกาสของธุรกิจในอนาคตควบคู่กับการเพิ่มเติมความรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน 

❓ แต่อะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ 

♻ ปัจจัยที่นักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการลงทุนตามเทรนด์ในปัจจุบัน คือแนวคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ที่ย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) 

✅ โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะพิจารณาถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมคือการพิจารณาว่าองค์กรมีการจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับพนักงาน  ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และสังคมอย่างไร และส่วนสุดท้ายคือ หลักธรรมภิบาล ซึ่งจะพิจารณาเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในแง่นี้ บริษัทจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้กับนักลงทุน อย่างเช่น แผนการเงิน เป็นต้น

📑 ในการเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจ ทำให้บริษัทต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะระบบบัญชีที่ต้องเป็นมาตรฐาน เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กส่วนมากไม่ได้มีประสบการณ์ในการจัดทำ จึงไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคการลงทุนได้ ดังนั้นความท้าทาย คือการสร้างรากฐานเกี่ยวกับระบบหลังบ้านให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ มาตรฐานบัญชี ข้อกฎหมาย รวมไปถึงข้อสัญญาต่างๆ 

🗂️ จากประเด็นด้านความท้าทายที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแนวทางในการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ทั้งในมุมของการทำธุรกิจ การบริหารจัดการระบบหลังบ้าน และการจัดกิจกรรมการระดมทุน

👉 สำหรับ NIA เองก็มีแนวทางสนับสนุนสตาร์ทอัพ ตั้งแต่ช่วงระยะเริ่มต้น (Early Stage) ผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน องค์ความรู้ และการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมออกสู่ตลาด และเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับเครือข่ายการลงทุนอื่นๆ ที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การขยายธุรกิจ (Scale up) ให้สามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป

รับชมการเสวนา หัวข้อ “ตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่” ย้อนหลังได้ที่ : 
https://www.facebook.com/NIAThailand/videos/2507028336155038