สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เบลเยียม” เมืองหลวงแห่งช็อกโกแลต ร้อยปีแห่งการรังสรรค์ความหวาน

บทความ 12 เมษายน 2565 5,348

“เบลเยียม” เมืองหลวงแห่งช็อกโกแลต ร้อยปีแห่งการรังสรรค์ความหวาน

 

อะไรคือส่วนผสมที่ทำให้ “เบลเยียม” มีความโดดเด่นด้านช็อกโกแลตและการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารมานานกว่าศตวรรษ

วันนี้เราจะมาพูดถึงการพัฒนาประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยขนมหวานอย่าง “ช็อกโกแลต” ที่เชื่อว่าถ้าใครเป็นคอช็อกโกแลตตัวยง ก็ต้องคิดถึงเบลเยียมเป็นแน่ แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า เบลเยียมสร้างเอกลักษณ์ จนใครๆ ก็นิยามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งช็อกโกแลตได้อย่างไร และมีการส่งเสริมมิติด้านนวัตกรรมมากน้อยแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้วเราจะเล่าให้ฟัง และเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน หยิบช็อกโกแลตมากินตามไปด้วยก็ได้เลย!

ย้อนรอย “ช็อกโกแลตเบลเยียม” รสชาติที่ชวนหลงใหลมานานหลายร้อยปี 

จุดเริ่มต้นความนิยมช็อกโกแลตเบลเยียมที่มีมาอย่างยาวนานนั้น หากจะย้อนเวลากลับไปคงต้องย้อนไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1857 มีเภสัชกรคนหนึ่งที่ชื่อว่า “Jean Neuhaus” ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบรัสเซลล์ (Brussels) เขามักเจอปัญหาผู้ป่วยไม่ชอบกินยา เพราะยามีรสขม จึงได้นำช็อกโกแลตมาเคลือบยาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินยาได้ง่ายมากขึ้น จนทำให้ร้านขายยาของเขาโด่งดังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งการที่เขามองเห็นปัญหาของผู้ป่วยแล้วหาวิธีแก้ไข เป็นแนวคิดเดียวกับที่เหล่าสตาร์ทอัพมักจะใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ Pain Point ของผู้บริโภค

จากนั้นไม่นานลูกชายของ Jean Neuhaus ได้ต่อยอดความสำเร็จด้วยการทำช็อกโกแลตสอดไส้ หรือช็อกโกแลตพราลีน (Praline) ออกมาขาย ภายใต้แบรนด์ “Neuhaus” นับว่าเป็นช็อกโกแลตสำเร็จรูปในสไตล์แรกที่ขายออกสู่ตลาด ความสำเร็จของแบรนด์ Neuhaus ทำให้มีร้านช็อกโกแลตจำนวนมากต้องงัดความคิดสร้างสรรค์ออกมาสู้ จึงได้มีช็อกโกแลตในรูปแบบต่างๆ ออกมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “Kwatta” ช็อกโกแลตแท่งที่เหมือนกับแบรนด์ Kitkat ในปัจจุบัน หรือ “Couverture Chocolate” ช็อกโกแลตแบบกระดุม ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

จนกระทั่งราวๆ ปี ค.ศ.1912 แบรนด์ “Godiva” ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตสอดไส้หลากชนิดชื่อดัง ที่สามารถพาตัวเองส่งออกไปในต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และดูเหมือนว่าความนิยมของช็อกโกแลตจะฉุดไม่อยู่อีกต่อไป ในปี ค.ศ.1958 เบลเยียมรุกการส่งออกช็อกโกแลตให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ด้วยการโปรโมตช็อกโกแลตเป็นสินค้าประจำชาติในงาน World Expo ทำให้เบลเยียมกลายเป็นเมืองหลวงแห่งช็อกโกแลตในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีร้านช็อกโกแลตกว่า 2,000 ร้านในประเทศ แถมยังมีพิพิธภัณฑ์ช็อกโกแลต และสมาคมช็อกโกแลตเป็นของตัวเองอีกด้วย

รันวงการช็อกโกแลตด้วยนวัตกรรม หนุนการวิจัยและพัฒนาโดย “Cacaolab

อีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้เบลเยียมกลายเป็นเมืองหลวงแห่งช็อกโกแลตที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ เบลเยียมเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านอาหาร หรือ FoodTech ที่สามารถนำมาปรับใช้กับช็อกโกแลตที่เป็นจุดขายมานานนับศตวรรษได้

โดยมีหนึ่งในหน่วยงานที่สำคัญของเบลเยียมคือมหาวิทยาลัยเกนต์ (University of Ghent) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดด้านงานวิจัยแห่งหนึ่งของเบลเยียม ได้จัดตั้งศูนย์วิจัย “Cacaolab” ขึ้นมาเพื่อใช้ในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านช็อกโกแลตโดยเฉพาะ โดยมีโรงงานเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการด้านช็อกโกแลตทั้งในระดับ SME ไปจนถึงบริษัทระดับนานาชาติมีพื้นที่สำหรับวิจัยและพัฒนาได้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปในประเทศอื่นๆ

จุดเด่นของ “Cacaolab” คือพื้นที่ที่สามารถพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิตของช็อกโกแลตในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การผสมวัตถุดิบ (Mixing) การกลั่น (Refining) การทำให้เหลว (Conching) และการขึ้นรูปแล้วทำให้เย็น (Tempering & Cooling) แถมยังเป็นพื้นที่สัมมนา เวิร์กช็อปให้กับบริษัทต่างๆ ซึ่ง Cacaolab ยังได้รับการสนับสนุนในแง่การลงทุนจาก “Sparkalis” FoodTech Ventures ชื่อดังระดับโลกอีกด้วย

ต่อยอดอดีตสู่อนาคตกับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ สร้างสรรค์เมนูช็อกโกแลตได้แบบไม่รู้จบ

ความสำเร็จในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องหมายการันตีว่าจะเป็นที่หนึ่งตลอดกาล จากที่เคยเป็นเมืองหลวงแห่งช็อกโกแลต ในอนาคตอาจกลายเป็นประเทศอื่นที่แย่งตำแหน่งไป ยิ่งในยุคนี้ที่ความสนใจของคนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงยังเห็นทั้งผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในเบลเยียมที่กำลังพัฒนานวัตกรรมกับช็อกโกแลตอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น

Miam Factory” หนึ่งในสตาร์ทอัพที่อยู่ในโครงการ Smart Gastronomy Lab หรือโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้าน FoodTech ของเบลเยียม ได้ใช้กระบวนการทำ 3D Printing ในการปั้นช็อกโกแลตให้เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ช็อกโกแลตรูปสัตว์ หรือขวดน้ำที่ทำจากช็อกโกแลตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงขนาดที่ว่ามีโรงเบียร์หลายแห่งในเบลเยียมใช้เป็นภาชนะภายในร้านเรียบร้อยแล้ว

“Concept Chocolate” บริษัทช็อกโกแลตคุณภาพสูงใจกลางเมืองบรัสเซลล์มีบริการที่เรียกว่า “Personalized Chocolate” ให้ลูกค้าสามารถเลือกรูปทรงและส่วนผสมเองได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านช็อกโกแลตให้คำปรึกษาตลอดเวลาที่ใช้บริการ ทำให้ทุกโอกาสพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นงานปาร์ตี้ วันเกิด หรือเทศกาลไหนๆ ก็มีช็อกโกแลตแบบเดียวในโลกได้ เทรนด์นี้กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่โลกให้การยอมรับ และสามารถเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้มาก
 
ซึ่งการไม่หยุดพัฒนานี้เอง ทั้งในมิติของความคิดสร้างสรรค์ (Soft Innovation) และมิติด้านเทคโนโลยี (Hard Innovation) ทำให้กระบวนการผลิตอาหารของเบลเยียมมีความโดดเด่น และพร้อมต่อยอดไปสู่อาหารหรือขนมในแบบอื่นๆ ได้ ไม่แน่นะว่าในอนาคต เบลเยียมอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่เมืองหลวงแห่งช็อกโกแลต แต่อาจจะกลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมด้านอาหารอีกแห่งหนึ่งของโลกตามรอยประเทศอิสราเอลชาติแห่งสตาร์ทอัพก็เป็นได้

อ้างอิงภาพจาก : neuhauschocolates.com, ecomec.be, reuters.com

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.eurotunnel.com/uk/holiday-ideas/the-history-of-belgian-chocolate/
https://theculturetrip.com/europe/belgium/articles/a-brief-history-of-belgian-chocolate/
https://www.godiva.com/chocolate-belgium-heritage-1
https://www.longtunman.com/8969
https://en.wikipedia.org/wiki/Belgian_chocolate
https://www.globalinnovationindex.org/analysis-indicator
http://www.cacaolab.be/
https://www.reuters.com/article/us-religion-easter-belgium-chocolate-idUKKBN17F0VC
https://en.conceptchocolate.eu/pages/chocolats