สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“สนช.” ร่วมกับ ม.เกษตร เร่งผลักดันนวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

News 12 กุมภาพันธ์ 2563 3,437

“สนช.” ร่วมกับ ม.เกษตร เร่งผลักดันนวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา สนช.โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนา “AgTech Innovation Forum: นวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดขึ้นในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2563 และการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 58 สาขาพืช นำเสนอแนวโน้มทิศทางและตัวอย่างความสำเร็จการพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชของประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม ที่พร้อมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนให้เกิดการพลิกโฉมด้านการเกษตร หรือ AgTech Transformations ของประเทศไทย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สนช. กล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญด้านการเกษตรที่น่าสนใจคือ การทำเกษตรในปัจจุบันพบกับ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทั้งในเรื่องสภาพอากาศ การจัดการ ราคาผลผลิต แรงงาน เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ เช่น การเกิดฟาร์มในเมือง ระบบการควบคุมการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในโรงงาน การเพาะปลูกพืชแบบแม่นยำ ระบบการควบคุมแบบอัจฉริยะ เทคโนโลยีนี้กำลังเข้ามามีบทบาทและสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ นวัตกรรมการผลิตพืชอย่างยั่งยืน คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก เช่น การคัดเลือกสายพันธ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การให้ปุ๋ยและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและแตกต่างกันตามธาตุอาหารในดิน การวิเคราะห์ความชื้น สภาพอากาศ การควบคุมความชื้น แสง เพื่อการปล่อยน้ำให้มีระดับความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอันจะส่งผลให้มีความเที่ยงตรง แม่นยำ และใช้ปัจจัยการผลิตน้อยที่สุดของพืชในแต่ละช่วงวัย ดังนั้น ประเทศไทยต้องเริ่มขยับตัวไปในการใช้นวัตกรรมมากขึ้น ให้เป็นตัวเร่งสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของประเทศไทย

โดยในช่วงแรกของงานสัมมนาจะเป็นวิทยากรจากภาครัฐ นักวิจัยและภาคเอกชน มาสร้างมุมมองใหม่ทางด้านธุรกิจการเกษตร เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนและสร้างนวัตกรรมการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม สนช. ที่กล่าวถึงบทบาทของ ABC center เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business model) และใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) พัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาภาคการเกษตรเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำเกษตรกรรมของประเทศ ที่มุ่งเน้นแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ในกลุ่มของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการมาช่วยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้กับการเกษตร โดยเสนอ 5 แนวโน้มนวัตกรรมการผลิตพืชอย่างยั่งยืน พร้อมตัวอย่างการแก้ไขปัญหาจากสตาร์ทอัพสายเกษตรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ 1) Data Driven Agriculture 2) Plant Factory with Artificial Light (PFAL) 3) Automation & Robot 4) Agriculture Biotechnology และ 5) Agriculture Service 

รวมทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึง เราจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างไร? สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการ Open data เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็น Solution ได้  และการ Collaboration คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้ง 2 อย่างจะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และปิดท้ายด้วยมุมมองของภาคเอกชนที่ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงงานผลิตพืช คุณกฤษณะ ธรรมวิมล CEO บริษัท วังรี เฮลท์ แฟคตอรี่ จำกัด ที่มีรูปแบบการสร้างธุรกิจใหม่ของการผลิตพืชจากแนวโน้มการพัฒนาระบบ PFAL ทั่วโลก ที่ต้องการผลิตพืชปลอดสารเคมี ประหยัดน้ำ และมีประสิทธิภาพสูง ด้วยการออกแบบระบบการผลิตให้เหมาะสมจากพื้นฐานของเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย ผนวกกับความรู้ความเข้าใจการผลิตพืช สอดคล้องกับความสำคัญที่จะสร้างรูปแบบทางการตลาดที่สามารถมีสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง และต้นทุนที่คงที่เหมาะสมให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม

บทสรุปที่สำคัญคือ ตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมนวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับเกียรติจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจาก สนช. โดย คุณนฤดี ทองวัตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มองเห็นถึงปัญหาและมีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับดาวเรืองที่ต้องตัดทิ้ง โดยได้ร่วมมือกับบริษัท เอสพีสมาร์ทแพลนท์ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีระบบการเพาะปลูกพืชแบบแม่นยำ ที่ต่อยอดการใช้ผลงานวิจัยจาก ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ ดร. เบญญา มะโนชัย อาจารย์จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบโรงเรือนควบคุมสภาวะการเจริญเติบโตแบบอัตโนมัติ โดยระบบจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ (Sensor) และเรียนรู้ด้วย Machine Learning ช่วยวิเคราะห์หารูปแบบเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการปลูกดาวเรือง เพื่อทำให้ดอกดาวเรืองมีปริมาณสารสำคัญสูงสุด ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเป็นโรงเรือนระบบปิด จึงช่วยลดการใช้สารเคมี

นอกจากนี้ยังการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการอบแห้งด้วยการแผ่รังสีความร้อนจากเซรามิก ที่จะช่วยให้ร่นระยะเวลาการอบแห้งให้รวดเร็วขึ้นตลอดจนสามารถควบคุมปริมาณความชื้นได้และสารสำคัญไม่ให้ถูกทำลายด้วยความร้อน โดยผลผลิตที่ได้จากการอบแห้งได้มีความร่วมมือกับ ดร.วาลุกา พลายงาน วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมสกัดสารเพื่อวิเคราะห์สารสำคัญเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับดอกดาวเรืองแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน และยังส่งผลต่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย 

การดำเนินงานในวันนี้ ถือเป็นจุดประกายที่สำคัญที่จะสร้างความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและการต่อยอดของภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกันและต่อยอดอย่างบูรณาการ ให้มีความแข็งแกร่งและสามารถเป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล 

สามารถติดตามชมรายละเอียดย้อนหลังได้ที่ http://live.ku.ac.th/?p=7050

ภาพโดย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์