สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

อัปเดต 6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตร พร้อมจับตา 12 สตาร์ทอัพเกษตรหน้าใหม่ดาวรุ่ง ปี 2023

23 เมษายน 2566 26,861

อัปเดต 6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตร พร้อมจับตา 12 สตาร์ทอัพเกษตรหน้าใหม่ดาวรุ่ง ปี 2023

6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตร ปี 2023

 

หลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือรู้จักกับ เทคโนโลยีการทำเกษตรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การเกษตรดิจิทัล การใช้หุ่นยนต์ โดรน หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในภาคเกษตร จากบทความ 6 เทรนด์ “AgTech” เปลี่ยนอนาคต “การเกษตร” ไทย ที่ได้คาดการณ์แนวโน้ม “นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่” ผ่านมา 2 ปีแล้ว มาอัปเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตรทั้ง 6 เทรนด์ ผ่านฝีมือของ สตาร์ทอัพเกษตร หรือ AgTech Startup ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างโซลูชันตอบโจทย์ปัญหาการเกษตร ซึ่งนอกจากจะสะดวก ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพแล้วยังสามารถขยายให้เกิดการใช้งานร่วมในวงกว้างได้อีกด้วย โดยบทความนี้จะขอยกตัวอย่างสตาร์ทอัพเกษตรไทยรายใหม่ๆ ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการพร้อมใช้งาน มีผลงานที่โดดเด่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับให้ภาคการเกษตรไทย

 

6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตรจาก 12 ฝีมือสตาร์ทอัพไทยดาวรุ่ง

1) การเกษตรดิจิทัล

ในยุคของสังคมดิจิทัลที่ทุกคนล้วนมีสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์สำคัญ การจัดการฟาร์มด้วยเซนเซอร์ และระบบไอโอที จึงถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยเกี่ยวกับ "เกษตรอัจฉริยะ" หรือ "สมาร์ทฟาร์ม" เช่น ระบบควบคุมการเปิดปิดน้ำที่สามารถตั้งเวลาได้ การสั่งการและติดตามการเติบโตของพืชด้วยสมาร์ทโฟน จึงทำให้สตาร์ทอัพเกษตรในกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญของการทำเกษตรดิจิทัลคือ การนำเทคโนโลยีไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพและแม่นยำเพิ่มมากขึ้นกับเกษตรกรผู้ใช้งาน โดยการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชแต่ละชนิดมาใช้ในการศึกษาเพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต การป้องกันโรค ความเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ร่วมกับการพัฒนาเซนเซอร์และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ โดยสตาร์ทอัพเกษตรดาวรุ่งที่มีแนวทางมาตอบโจทย์การทำการเกษตรดิจิทัล ได้แก่

  • “ฟาร์มคอนเนค เอเซีย” – ระบบเกษตรควบคุมและติดตามการบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยในแปลงเกษตรให้มีความแม่นยำและเที่ยงตรงด้วยเทคโนโลยี IoT Fertigation สำหรับการปลูกเมล่อนกลางแจ้ง ช่วยเพิ่มผลผลิตคุณภาพสูงทั้งเกรดเอและเกรดพรีเมี่ยม ได้ผลผลิตตรงตามความต้องการผู้บริโภค อีกทั้งได้พัฒนาระบบ AI จากข้อมูลการปลูกเมล่อน เพื่อให้เกิดการทำเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น ที่สำคัญมีตลาดรองรับให้ด้วย
  • “เมอร์ลิเนียม ฟาร์ม” – ระบบเกษตรอัจฉริยะสื่อสารข้อมูลไร้สาย ด้วยเทคโนโลยีผลิตพลังงานในตัวด้วยแสงความเข้มต่ำ แก้ปัญหาความยุ่งยากของสมาร์ทฟาร์มแบบเดิมไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีต้องมีสายไฟ แดดน้อยก็ทำงานได้

 

2) เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ

ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรในประเทศไทยล้วนมีอายุมากขึ้น ต้องการเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร แต่การจะใช้ "หุ่นยนต์" เดินช่วยงานในแปลงเกษตรของไทยอาจจะเป็นภาพที่ต้องรอไปอีกสักระยะ เนื่องจากเป็นโซลูชันที่ใช้งบประมาณสูงจึงจำเป็นต้องหาแนวทางความคุ้มค่ากับการลงทุน ร่วมกับการออกแบบแปลงให้สอดคล้องกับการสนับสนุนการทำงานไปด้วยกัน ในส่วนที่เราเห็นกันเพิ่มมากขึ้นคือ อากาศยานไร้คนขับ หรือ "โดรน" ที่จะมาตอบโจทย์การแก้ปัญหาเกษตรมากขึ้น เช่น การพ่นยาพ่นปุ๋ย ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ในการหว่านเมล็ด การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรายแปลงเพื่อทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น และระบบอัตโนมัติที่ช่วยผ่อนแรงการทำงานให้เกษตรกรมากขึ้น สตาร์ทอัพเกษตรดาวรุ่งที่มีแนวทางออกแบบและพัฒนาช่วยลดการใช้แรงงานในภาคเกษตร ได้แก่

  • “ไทเกอร์ โดรน” – โดรนสัญชาติไทย ที่ออกแบบ พัฒนา และผลิตโดยคนไทยด้วยมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ใช้งานง่ายด้วยเมนูภาษาไทย มีระบบวางแผนเส้นทางการบินที่มีความแม่นยำสูงและปลอดภัยทุกพื้นที่ มีฟังก์ชันการใช้งานพัฒนาเพื่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ เช่น โหมดโชยรวง ที่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไม่เสียหายจากการบินโดรน โหมดกันข้าวไหม้ ที่ช่วยให้การฉีดพ่นเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอไม่มากเกินไป พร้อมการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและปลอดภัย
  • “ริมโบติก” – เรือรดน้ำไร้คนขับ ด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มเติมของเรือรดน้ำชาวสวนที่มีอยู่ ทำหน้าที่ควบคุมเรือรดน้ำแทนคน การตรวจจับร่องน้ำ สัญญาณที่ได้จากเซนเซอร์ส่งไปยังหน่วยประมวลผล และส่งไปควบคุมใบพัดให้หมุนทางซ้าย-ขวา เพื่อควบคุมหัวเรือให้อยู่กลางร่องน้ำเสมอ และควบคุมการเลี้ยวเมื่อเจอทางแยกของร่องน้ำ รวมทั้งสามารถตั้งค่าจำนวนร่องน้ำที่ต้องการรดได้ และเมื่อถึงจำนวนที่กำหนดจะสั่งเครื่องยนต์ให้หยุดทำงานได้

 

3) เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร

เทคโนโลยีที่เกิดจากการนำเอาสิ่งมีชีวิตมาพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ทางการเกษตรมีการใช้มาเป็นระยะเวลานาน เช่น การผสมพันธุ์ในการพัฒนาพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในการผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมากในระยะเวลาสั้น การผสมเทียม การย้ายฝากตัวอ่อน โดยมีแนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่สามารถแก้ไขและพัฒนากระบวนการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูง เกิดความแม่นยำในการดำเนินงานต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น พันธุ์พืชทนโรค สารชีวภาพกำจัดโรค ปุ๋ยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยสตาร์อทัพในกลุ่มนี้จะเป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยอย่างน้อย 4-5 ปี เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้มาสร้างให้เกิดธุรกิจ ตัวอย่างของสตาร์ทอัพเกษตรดาวรุ่งที่มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในภาคเกษตร ได้แก่

  • “สยาม โนวาส” – สามารถผลิตน้ำเชื้อโคคัดแยกเพศแห่งแรกของไทย ด้วยกรรมวิธีการคัดเพศจากเซลล์น้ำเชื้อโดยปฏิกิริยาไซโตทอกซิคจากโมโนโคลนอลแอนติบอดี ทำให้เพิ่มอัตราการผสมติดและ สามารถทำให้เกิดลูกเพศเมียได้สูงถึงร้อยละ 70 - 75
  • “ยูนิฟาร์ส” - พัฒนา ซาลโมการ์ด เป็นสารเสริมชีวภาพที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อซาลโมเนลล่าในลำไส้สัตว์ เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี และมีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเชื้อซาลโมเนลล่า ที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบทางเดินอาหารของไก่ ตอนนี้กำลังพัฒนาผลิตจากแบคเทอริโอเฟจในโรคไก่อื่นๆ เช่น โรคบิด และ โรคในสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา

 

4) การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่

การปลูกพืชระบบปิดโดยใช้แสงเทียม เป็นสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการเกษตรสมัยใหม่ ที่สามารถปลูกพืชในเมือง โดยไม่ต้องรอฟ้าฝนและแสงแดด เป็นการปลูกผักที่สะอาดไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมง แต่สิ่งสำคัญคือความคุ้มค่าของการลงทุน ในการลงทุนที่ต้องเลือกกลุ่มผักที่มีความต้องการกับผู้บริโภค สามารถแข่งขันด้านราคา โดยเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากโยบายกัญชาเสรี ซึ่งประเทศไทยก็ยังเป็นกลุ่มเล็กยังไม่สามารถกระจายได้มาก เหมือนอย่างเช่นต่างประเทศทีมีมูลค่าธุรกิจระดับยูนิคอร์น อย่างเช่น โบริวี่ โรงปลูกผักที่มีระบบอัตโนมัติของสหรัฐอเมริกา หรืออินฟาร์มจากเยอรมัน โรงเรือนปลูกผักในห้างสรรพสินค้ากระจายในหลายประเทศในยุโรป ขอยกตัวอย่าง 2 สตาร์ทอัพที่ใช้โรงเรือนปลูกพืชระบบปิด ดังนี้

  • “โนบิทเทอร์” –สร้างแพลตฟอร์ม “ปลูก ณ จุดขาย” พร้อมส่งขายออนไลน์ โดยแปลงอาคารเก่าเป็นโรงเรือนปลูกพืชระบบปิด ในปีนี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ผักเคล Low K” จากการวิจัยพัฒนาการปลูกพืชในระบบปิดใช้ประโยชน์จากแสงไฟคัดเลือกความยาวคลื่นเหมาะสมเพื่อลดสารโพแทสเซียมในผัก
  • “ไดสตาร์เฟรช” – จากความต้องการผักปราศจากยาฆ่าแมลง จึงเกิดเป็นโรงงานผลิตพืชในระบบปิด ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ทั้งการให้น้ำ ให้แสง อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ เน้นการปลูกพืชผักกินใบ เช่น ผักเคล สปิแนช มิซูน่า กรีนคอส บริการจัดส่งผักแบบสมาชิกโดยตรงจากฟาร์มในกรุงเทพและปริมณฑล ที่เก็บเกี่ยวผักสดไม่เกิน 3 ชั่วโมงจะจัดส่งถึงหน้าบ้าน และแบบสั่งซื้อออนไลน์

 

5) การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง

การที่จะได้รับสินค้าเกษตรที่ยังคงรสชาติและความสดใหม่ของสินค้าไว้ได้ทั้งผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ ให้อร่อยและสดใหม่เหมือนกินอยู่ใต้ต้น หรือข้างบ่อเลี้ยง ทำอย่างไรที่จะยืดอายุสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้ยาวนานขึ้น เป็นโจทย์ที่น่าสนใจมาก ทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุ กระบวนการไม่ใช่สารเคมี ร่วมกับการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ แต่มีผลิตภัณฑ์และบริการจากสตาร์ทอัพกลุ่มนี้จำนวนน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในระยะของการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากสินค้าเกษตรที่หลากหลายมีความเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างหลากหลาย และมีคุณสมบัติตามความต้องการ มีสตาร์ทอัพฝีมือคนไทยที่พัฒนาเทคโนโลยียืดอายุผักและผลไม้ ที่ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่

  • “อีเดน” – สารเคลือบเนื้อผลไม้บริโภคได้ ช่วยยืดอายุผักผลไม้ จากสารสกัดจากธรรมชาติ สามารถรักษาความสดและชะลอการเสื่อมสภาพของทั้งผลไม้ตัดแต่ง และผักผลไม้สด โดยตอนนี้มีหลากหลายสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน มะม่วง หน่อไม่ฝรั่ง ตะไคร้
  • “เอ็มเอซี” – ระบบล้างผักและผลไม้เพื่อลดการตกค้างของยาฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยี ออกซิไดส์ เพื่อการสลายโครงสร้างโมเลกุลยาฆ่าแมลงและโครงสร้างเซลล์จุลินทรีย์ด้วยการออกซิไดส์ขั้นสูงได้เป็นสารประกอบคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ทำให้สินค้าผักและผลไม้มีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษา และการลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิต

 

6) บริการทางธุรกิจเกษตร

แพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงเกษตรกร และผู้ให้บริการด้านการเกษตร ที่เห็นได้มากขึ้นก็คือ โดรนทางการเกษตร ที่เริ่มมีการใช้มากขึ้น แต่ส่วนบริการเครื่องจักรกลต่างๆ ยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะปกติพื้นที่ติดกันจะทำเกษตรกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นจึงทำให้เกิดความต้องการใช้งานในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสตาร์ทอัพเกษตรในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้

ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ การบริการแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต ทำให้เกษตรกรสามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหรือร้านค้าที่มีบริการจำหน่ายของสดออนไลน์ เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรของสด และสินค้าแปรรูป สำหรับการขายและส่งมอบให้กับผู้บริโภคหรือกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีการแข่งขันด้านราคาบวกกับค่าขนส่งที่สูง ทำให้สตาร์ทอัพเกษตรในกลุ่มนี้ต้องหารูปแบบธุรกิจที่จะก้าวผ่านปัญหาเหล่านี้ไปให้ได้ สำหรับตัวอย่างสตาร์ทอัพเกษตรที่มุ่งมั่นในการสร้างตลาดให้กับเกษตรกร ได้แก่

  • “ส่งสด” – ระบบบริการจัดการขายสินค้าทางการเกษตรสู่ผู้บริโภคและธุรกิจ โดยการนำสินค้าคุณภาพดี ผ่านการคัดสรรจากตลาดสดที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรผ่านผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ สู่ผู้บริโภค และธุรกิจ ที่สร้างความมั่นใจในคุณภาพและราคาที่เป็นธรรมด้วย
  • “บอร์น ไทยแลนด์” – แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน กับภาระกิจช่วยสร้างยอดขาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมีระบบ ยกระดับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสินค้าชุมชน ที่เข้าใจทั้งชุมชนและความต้องการตลาด ที่จะเชื่อมสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภคอย่างตรงความต้องการ

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยให้การทำเกษตรในยุคดิจิทัลง่ายขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน ทุ่นแรง สร้างตลาด ปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยำในทิศทางใดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานอย่างเกษตรกร และธุรกิจเกษตรด้วย มาร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการแพร่กระจายด้วยการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการจากฝีมือสตาร์ทอัพเกษตรไทย จะส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมเกษตรของไทย...สู่การเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตร ปี 2023

 

บทความโดย
มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)