สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

4 แหล่งเงินทุนไทย สำหรับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)

บทความ 28 มิถุนายน 2565 12,460

4 แหล่งเงินทุนไทย สำหรับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage)

 

เติมไฟให้สตาร์ทอัพไทย! กับ 4 แหล่งเงินทุนของไทยสำหรับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นโดยเฉพาะ

หากเปรียบสตาร์ทอัพคือ “นักรบเศรษฐกิจใหม่” ที่จะมาช่วยพลิกประเทศให้มีความเจริญเติบโตมากขึ้น การปั้นนักรบให้มีอาวุธที่แหลมคมและมีคลังเสบียงอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่อดีตในยุคดอทคอมบูมจนถึงปัจจุบันเราเลยได้เห็นแหล่งเงินทุนมากมายในโลกพร้อมลงทุนไปกับสตาร์ทอัพจำนวนมากในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในปี 1998 “Andy Bechtolsheim” นักลงทุนและวิศวกรชาวเยอรมัน และ “David Cheriton” นักลงทุนชาวแคนาดาได้ลงทุนกับ Google ด้วยเงินเพียง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ แม้ในเวลานั้น Google ยังไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ใครจะไปคิดว่าวันนี้ Google กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่คนทั่วโลกขาดไม่ได้

สำหรับในประเทศไทยเองก็มีแหล่งเงินทุนมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่จะมาช่วยสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไทยให้สามารถรันธุรกิจได้ตั้งแต่ในวันที่เริ่มต้นไปจนถึงวันที่ธุรกิจนั้นๆ ประสบความสำเร็จและเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยวันนี้เราจะขอแนะนำ 4 แหล่งเงินทุนที่สำคัญของไทยสำหรับสตาร์ทอัพเมล็ดพันธุ์ใหม่ระยะเริ่มต้นหรือ Early Stage ใครที่มีไอเดียดีๆ แต่ยังขาดเงินลงทุน หรืออยากติดตามทิศทางการลงทุนของสตาร์ทอัพก็มาอัปเดตข้อมูลไปพร้อมกันได้  

1. “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)”

ขอเริ่มต้นกันที่ NIA ของเราเลย เพราะมาครบจบที่เดียว! เป็น Focal Facilitator หรือเป็นผู้ที่มีบทบาททั้งเป็นผู้สร้างและเชื่อมโยงระบบนิเวศสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ทุน การให้ความรู้ การบ่มเพาะและเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ ในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม

โปรแกรมที่น่าสนใจ : ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ (Innovation for Economy) เช่น นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) นวัตกรรมมุ่งเป้า (Thematic Innovation) นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เช่น นวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา โครงการหมู่บ้านนวัตกรรม โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน เป็นต้น

ทำความรู้จัก “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://www.nia.or.th/ 

2. InnoSpace Thailand 

แหล่งเงินทุนที่เกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินและสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้เป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดย สวทช. ด้วยเงินลงทุนหลักร้อยล้านบาท ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ ยาและการแพทย์ (Medical and Pharmaceutical) อาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ (Food and Biodiversity) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry 4.0) ปัจจุบันมีการลงทุนกับสตาร์ทอัพทั้งหมด 14 ราย โดยมีสตาร์ทอัพไทยที่กำลังน่าจับตามองอยู่ด้วยเช่น QueQ, Freshket, Ricult ฯลฯ

ทำความรู้จัก “InnoSpace Thailand” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > http://www.innospacethailand.com/ 

3. 500 TukTuks

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน 500 TukTuks กันมาบ้าง เพราะถือว่าเป็น Venture Capital ชื่อดังของไทยและมีชื่อเสียงในระดับ Global เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่ให้การสนับสนุนทั้งสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดย คุณกระทิง เรืองโรจน์ ที่เรียกได้ว่าเป็น Startup Godfather เมืองไทย ร่วมกับคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee ซึ่งถือว่าเป็นสตาร์ทอัพยุคบุกเบิกในเมืองไทย เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและพร้อมเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยปัจจุบันลงทุนในสตาร์ทอัพกว่า 150 บริษัท ใน 10 ประเทศ โดยมีสตาร์ทอัพในระดับเซนทอร์ (Centaurs) ทั้งหมด 4 บริษัทด้วยกันได้แก่ Omise (จากประเทศไทย), Pomelo (จากประเทศไทย), Trusting Social (จากประเทศสิงคโปร์) และ FinAccel (จากประเทศอินโดนีเซีย)

โปรแกรมที่น่าสนใจ : กองทุน ORZON Ventures ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์

ทำความรู้จัก “500 TukTuks” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://thailand.500.co/ 

4. “กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

พร้อมเปลี่ยนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง! กองทุนนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นอกจากการให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ยังมีการให้เงินทุนกับเยาวชนในโครงการ TED Youth Startup อีกด้วย

โปรแกรมที่น่าสนใจ : TED Youth Startup, TED Market Scaling up

ทำความรู้จัก “TEDFund” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > http://www.tedfund.mhesi.go.th/

นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินทุนอีกมากมาย ที่พร้อมช่วยผลักดันสตาร์ทอัพในทุกระดับและทุกอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพพร้อมเติบโตทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีไอเดีย อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพหรือต้องการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม แต่ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน NIA ก็พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้คุณไปเจอกับนักลงทุนต่างๆ รวมถึงได้พาร์ทเนอร์ดีๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของเราอีกเพียบ!