สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

3 ไอเดียเปลี่ยน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

บทความ 26 มีนาคม 2564 10,016

3 ไอเดียเปลี่ยน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม


บางครั้งการคิดค้น ‘นวัตกรรมใหม่ๆ’ ก็อาจมาจากการใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้กับเทคโนโลยีเดิมๆ ที่เคยมีอยู่แล้ว 


ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบ และพยายามช่วยกันคิดหา ‘นวัตกรรม’ มาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แต่หลายคนอาจยังติดภาพกันว่า ‘นวัตกรรม’ จะต้องเป็นอะไรล้ำๆ แปลกๆ ไม่เคยมีมาก่อน หรือถูกคิดค้นขึ้นโดยกลุ่มคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าใครก็สามารถคิดนวัตกรรมได้ หากมองเห็นโอกาสและช่องว่างของปัญหาดังกล่าว ในแบบที่ไม่มีใครสังเกตเห็นมาก่อน


วันนี้ NIA ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 ตัวอย่างไอเดียนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (GreenTech) ที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม มาประยุกต์ใช้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ได้อย่างสร้างสรรค์… จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย


กังหันลมเกาะกลางถนน สร้างพลังงานไฟฟ้า จากลมรถที่วิ่งผ่าน

ใครว่า ‘กังหันลมสร้างกระแสไฟฟ้า’ จะต้องอยู่แค่บนภูเขาสูง ริมทะเล หรือพื้นที่ลมแรง เพราะที่ตุรกีกลับมีเจ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้านี้ ตั้งอยู่ในที่ที่หลายคนนึกไม่ถึงอย่าง ‘เกาะกลางถนน’


แนวคิดการผลิตพลังงานสะอาดสุดปังนี้ ริเริ่มโดย Devecitech บริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่สัญชาติตุรกี ที่พัฒนานวัตกรรม Enlil Turbine โดยนำกังหันลมแนวตั้งที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มาจับย่อส่วนให้มีขนาดกะทัดรัดขึ้น จับไปตั้งไว้บริเวณเกาะกลางถนน เพื่อรับกระแสลมธรรมชาติที่เกิดจากรถที่แล่นผ่านไปมาสองข้างทาง และแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า 


ไม่เพียงเท่านั้น ด้านบนของ Enlil ยังติดแผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้ตัวกังหันสามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์เวลากลางวันมากักเก็บไว้เพิ่มเติม ซึ่งรวมๆ แล้ว กังหันลม Enlil 1 ตัว สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 1 kw/h เพียงพอสำหรับการใช้ไฟของบ้าน 2 ครัวเรือนใน 1 วัน แถมยังติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับมลพิษ อุณหภูมิ แผ่นดินไหวและทิศทางลม เพื่อให้กังหันที่ถูกวางไว้รอบเมืองนี้ ช่วยเก็บข้อมูลสภาพอากาศที่จำเป็นต่อการวางนโยบายพัฒนาเมืองในอนาคต


ปัจจุบัน เริ่มมีการทดสอบใช้งานกังหันลม Enlil จริงแล้วที่ Istanbul ซึ่งหากผลทดสอบประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการลงทุนนวัตกรรมดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ บริษัท Devecitech ก็หวังว่าจะขยับขยายไปติดตั้งยังเมืองใหญ่ๆ เช่น มหานครนิวยอร์ก อีกด้วย

บิลบอร์ดสุดกรีน กรองมลพิษ คืนเป็นอากาศบริสุทธิ์

ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นควัน PM 2.5 แต่ ‘ลิมา’ เมืองหลวงของประเทศเปรูก็ต้องเจอกับวิกฤติเดียวกัน เนื่องจากการผุดขึ้นของตึกรามบ้านช่อง รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่รวดเร็วเกินไป 


จากปัญหาที่ว่า เป็นจุดเริ่มต้นให้มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี UTEC เข้ามาคิดหาแนวทางจัดการฝุ่นควันอย่างจริงจัง และปิ๊งไอเดียที่จะเปลี่ยนซากป้ายบิลบอร์ดโฆษณาเก่าๆ ซึ่งถูกทิ้งไม่ใช้ประโยชน์ ให้กลายเป็น ‘เครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์’ ด้วยการติดตั้งระบบกรองอากาศ ช่วยดูดซับมลพิษ เปลี่ยนอากาศให้กลับมาบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง


หลักการทำงานของบิลบอร์ดฟอกอากาศนี้ ตัวป้ายจะดูดอากาศที่มีฝุ่นควันเข้าไป และอัดอากาศดังกล่าวดังกล่าวผ่านระบบน้ำ ซึ่งจะกรองทั้งฝุ่น ละอองโลหะหนัก จุลินทรีย์และแบคทีเรียต่างๆ ทิ้งไว้ในน้ำ และสุดท้ายอากาศที่ถูกกรองไปครั้งหนึ่งแล้ว จะถูกกรองด้วยฟิลเตอร์ HEPA ที่ใช้ในวงการการแพทย์ ก่อนจะปล่อยกลับคืนออกมา ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าอากาศที่ปล่อยออกมานั้นบริสุทธิ์มากถึง 99% เลยทีเดียว


ถ้าพูดถึงความคุ้มค่าของนวัตกรรมบิลบอร์ดฟอกอากาศนี้ นับว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมาก เพราะป้ายโฆษณาฟอกอากาศดังกล่าวแค่เพียง 1 ป้าย สามารถคืนอากาศบริสุทธิ์ได้มากถึง 3.5 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้ 1,200 ต้น ลองจินตนาการดูว่าถ้าต่อไปมีนวัตกรรมแบบนี้ทั่วเมือง ชาวเมืองเองก็จะสามารถกลับมาสูดหายใจได้เต็มปอดอย่างแน่นอน 

กระถางต้นไม้จากขยะพืชเศรษฐกิจ ย่อยสลายได้ แทนการใช้ถุงพลาสติก

ทั้งที่ ‘การปลูกต้นไม้’ น่าจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมวิธีหนึ่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่า วิธีที่ว่านี้อาจเป็นต้นเหตุของปัญหาขยะพลาสติกได้โดยไม่รู้ตัว


Srija A นักเรียนมัธยม วัย 14 ปี จากรัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย กลับมองเห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่นี้ ตอนที่เธอร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้รอบๆ โรงเรียน ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เพราะในขณะที่กำลังขุดดินเพื่อเตรียมลงต้นกล้า กลับต้องตกใจเมื่อพบว่ามีขยะถุงชำที่ทำมาจากพลาสติกเกลื่อนอยู่ใต้ดิน


เธอรู้สึกไม่อยากให้ปัญหาแบบนี้ซ้ำรอยต่อไป จึงเริ่มมองหาวัสดุทดแทนที่น่าจะดีกว่าถุงชำพลาสติก ก่อนจะไปจบลงที่ ‘เปลือกถั่วเหลือทิ้ง’ เศษขยะการเกษตรที่มีเยอะที่สุดในเมือง โดยนำเปลือกถั่วมาบดปั่น ผสมน้ำและส่วนผสมธรรมชาติ เพื่อให้มีความเหนียวหนึบสามารถยึดเกาะตัวกันได้ ปั้นให้เป็นรูปทรงกระถางเพาะชำ ก่อนจะนำไปตากแดด


กระถางต้นไม้จากเปลือกถั่วที่ว่านี้ สามารถย่อยสลายได้เองภายใน 20 วัน ที่สำคัญเมื่อถูกย่อยสลายไป ยังกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับต้นกล้า เพราะเปลือกถั่วเหล่านี้มีปริมาณแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เช่น ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ฯลฯ สูงมาก


ผลงานของ Shija A ทำให้เธอสามารถคว้ารางวัล Council of Scientific and Industrial Research (CSIR) Innovation award ในปี 2020 ก่อนจะมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนไอเดียของเธอ และต่อยอดผลิตออกมาเชิงอุตสาหกรรม ถือเป็นไอเดียนวัตกรรมดีๆ ที่สามารถช่วยโลกสองต่อ ทั้งนำขยะที่เหลือทิ้งมาสร้างสิ่งใหม่ และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปีด้วย