สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติการจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)”


คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติการจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)” ให้เป็นหน่วยงานในกำกับของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีระบบบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ โดยให้โอนเงินในส่วนของ “กองทุนพัฒนานวัตกรรม” มาเป็นทุนประเดิมของสำนักงานฯ และในขณะเดียวกันให้บริหาร “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี” ตามระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีคำสั่งที่ 84/2546 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2546 จัดตั้ง


ความเป็นมา ความเป็นมา

ต่อมาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) [สนช.]” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 จึงทำให้ สนช. มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรไปสู่การ เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน โดยมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเต็มตัว และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจน โดย สนช. ได้สร้างแนวทางในการดำเนินงานเพื่อ พัฒนาโครงการนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นห่วงโซ่มูลค่า (value chain) บนฐานความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

สนช. ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ “นวัตกรรม” เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธร รมประกอบด้วยปัจจัยด้านความเป็นผู้ประกอบการ และปัจจัยด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึง องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น สนช. กำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดยการนำองค์ความรู้จากหน่วยงานวิชาการทั้งหมดทั้งใน และต่างประเทศมาประยุกต์ใช้และได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรม เพื่อการรังสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่ออุตสาห กรรมของประเทศ โดย สนช. ได้มีการพิจารณาทบทวนแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างสม่ำ เสมอเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินงานในแต่ละปี ดังนี้

พ.ศ. 2565 "ปีแห่งการเปิดเมือง เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน (Global Innovation City Reconnecting the World)"  

ปีแห่งการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

แม้ว่าทุกประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่ทุกประเทศไม่สามารถที่จะหยุดเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งการเปิดเมืองจะเป็นการเชื่อมโลกและประเทศไทยกลับมาด้วยกัน เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ซึ่งมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ต่อไป 

พ.ศ. 2564 “ปีแห่งการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...ด้วยนวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคต หรือ Deep Tech Rising…The Next Frontier of Innovation”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) จึงกลายเป็น “คำตอบ” ของการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับแต่ละประเทศในระยะยาวเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยและสร้างภูมิคุ้มกันในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกในอนาคตได้ 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จึงได้ริเริ่มโปรแกรมสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech Innovation) และกำหนดให้เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็น “ปีแห่งการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...ด้วยนวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคต” หรือ “Deep Tech Rising…The Next Frontier of Innovation”

พ.ศ. 2563 "ปีแห่งนวัตกรรมในภาวะวิกฤต หรือ Innovation in Time of Crisis“

ปีที่ “นวัตกรรม” พาเราก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศ ได้ดำเนินการตามแนวทางการฟื้นฟูและบรรเทาวิกฤต โดยนำงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ระบบการติดตาม ระบบสุขภาพทางไกล การเว้นระยะห่างทางสังคม และการบริหารจัดการอุปทาน ตามนโยบายในการจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งโครงการที่ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนด้านระบบการติดตาม อาทิ โครงการเซฟที ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 เชิงรุกด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ด้านระบบการบริหารจัดการอุปทาน อาทิ ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แบบรวดเร็วจากเลือดของผู้ป่วย สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ และระบบการบริหารอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ที่เชื่อมโยงกำลังการผลิตและยอดสินค้าคงเหลือจากแหล่งผลิตกับคำสั่งซื้อจากสถานพยาบาลและประชาชน รวมไปถึงนวัตกรรมที่ไปสนับสนุนการรับมือวิกฤตด้านอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้หัวใจสําคัญสําหรับการนํานวัตกรรมมารับมือในภาวะวิกฤต คือ “ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” NIA ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ มาทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย โรงพยาบาลในสังกัด อว. เพื่อร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการส่งต่อนวัตกรรมอย่างครบวงจร ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

พ.ศ. 2562 "ปีแห่งนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation"

นวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation สามารถนำไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ช่วยให้การใช้ชีวิตในสังคมเมืองมีความสุขขึ้น รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของเมือง โดยแนวคิด “Social Innovation in the City” เพื่อสื่อถึงการเกิดขึ้นของสังคมเมืองในปัจจุบันและการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมามากมาย ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสังคมต่างๆ ที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง…ใจกลางกรุงเทพฯ แสดงถึงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่มีความหลากหลายมากที่สุดที่รวบรวมผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมในงานเดียว ตั้งแต่เด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส

พ.ศ. 2561 "ปีแห่งการทูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy"

การฑูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy ถือได้ว่าเป็น “กลไกสร้างความตระหนักและการรับรู้ต่อศักยภาพทางนวัตกรรมของระบบนวัตกรรมไทย” ที่เน้นย้ำต่อ “อัตลักษณ์” ใหม่ ของนวัตกรรมไทย การทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชฑูตไทย ในประเทศกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างสะพานเชื่อมระบบนวัตกรรมโลก เป็นการเปิดโอกาศให้วิสาหกิจไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การบรรลุความร่วมมือระหว่าง NIA และการนวัตกรรมแห่งประเทศอิสราเอล (Israel Innovation Authority, IAA) และนครฟุกุโอกะ และเบอร์ลิน เพื่อสร้าง Landing Pad แก่วิสาหกิจเริ่มต้นร่วมกัน การสร้างระบบนิเวศน์ด้านการลงทุนทางนวัตกรรม ที่เชื่อมโยง การลงทุนร่วมเสี่ยงของบรรษัทขนาดใหญ่ (Corporate Venture Capital, CVC) ในประเทศกับนานาชาติ เพื่อพัฒนาตลาดทุนทางนวัตกรรมของกลุ่มทุนไทย รวมทั้งการสนับสนุนให้วิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA มีโอกาสพัฒนาตลาดนานาชาติและแสวงหาหุ้นส่วนทางนวัตกรรมจากทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และลาตินอเมริกา ถือได้ว่า ประชาคมโลกทางนวัตกรรมเริ่มให้ความสนใจต่อพัฒนาการของระบบนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถือเป็นปีที่ 9 ของการยกระดับสำนักงานฯ เป็น องค์การมหาชน และเป็นปีสำคัญของการปฎิรูปกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี NIA ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจาก หน่วยงานสนับสนุนทุนทางนวัตกรรมแก่เอกชน ไปสู่การเป็น องค์กรเร่งการพัฒนาการและการปรับเปลี่ยน (Change Maker & Accelerator) สำหรับระบบนัตกรรมแห่งชาติของประเทศไทย ที่มีพื้นที่การดำเนินงานทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือจรดชายแดนใต้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก เพื่อนำพาประเทศไทยประสู่ “ประเทศชั้นนำทางนวัตกรรม” ของโลกในทศวรรษหน้า

พ.ศ. 2560 "ปีแห่งนวัตกรรม 360 องศา (Innovation 360)"

สนช. ได้มีการขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมการพัฒนานวัตกรรมในหลากหลายด้านเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อบริบทที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงอย่างในปัจจุบัน โดยเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านนวัตกรรมทั้งในระดับเยาวชน อุดมศึกษา ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ผู้ประกอบการนวัตกรรมขนาดต่างๆ ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรมให้ความรู้ บ่มเพาะ และการสร้างภาวะผู้ประกอบการ 2. การพัฒนาบริษัทนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และร่วมรับความเสี่ยงกับผู้ประกอบการนวัตกรรมในการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ผ่านกลไกการสนับสนุนทางการเงิน การให้บริการปรึกษาทางธุรกิจและเทคนิค รวมถึงการขยายผลทางตลาด 3. การลดความเหลื่อมล้ำ โดยอาศัยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมการกระจายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาคเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างและการเข้าถึงนวัตกรรมให้เป็นไปอย่างทั่วถึง 4. การสร้างการรับรู้ด้านนวัตกรรม สร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาสังคม เพื่อสร้างการรับรู้ การยอมรับ และเกิดการนำนวัตกรรมในหลากหลายด้านไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และ 5. การพัฒนาความรู้และฐานข้อมูล โดยอาศัยการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินทางวิชาการ เพื่อแสวงหาโจทย์ แนวโน้มและประเด็นการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบความต้องการของประเทศ รวมถึงการสร้างระบบและเครื่องมือการพัฒนาและประเมินผลที่สนับสนุนการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ผ่านการพัฒนาสารสนเทศนวัตกรรม

พ.ศ. 2559 “ปีแห่งการส่งเสริมสตาร์ทอัพ”

สนช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการสร้างสตาร์ทอัพในระดับนานาชาติ โดยระดมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของประเทศให้มาเป็นแนวร่วมในการสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มสตาร์ทอัพขึ้นในประเทศไทย และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยในปีนี้ สนช. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศผ่านกระบวนการส่งเสริมการสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้แก่ภาคการผลิตและภาคสังคม ผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญดังนี้

ผลจากความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและเร่งรัด ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ โดยกำหนดบทบาทการปฏิบัติงานในลักษณะของผู้ร่วมรังสรรค์นวัตกรรม  ตลอดจนการเป็นผู้สนับสนุน และผู้ให้บริการร่วมกับองค์กรภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการนวัตกรรม จึงทำให้ สนช. ได้รับการเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ

  • รางวัล “หน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ (ด้านส่งเสริมธุรกิจเอกชน)” จากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
  • ใบประกาศเกียรติคุณใน “โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” ในฐานะองค์กรที่มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์ประโยชน์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม จากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา
  • รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 “ประเภทหน่วยงานดีเด่นระดับประเทศ” เพื่อเชิดชูเกียรติหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการศึกษาด้วยหลักสูตรที่มีคุณภาพเพื่อสร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมให้กับประเทศ จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2558 “ปีแห่งการวิศวนวัตกรรม (Innovationeering)”

สนช. มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน บนความร่วมมือในทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 75 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 107,637,404 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,503,399,244 บาท

 

 

 

 

 

 

พ.ศ. 2557 “ปีแห่งการเผยแพร่นวัตกรรมสู่สากล”

สนช. มุ่งนำเสนอคุณค่านวัตกรรมของประเทศไทยให้ประจักษ์ในระดับสากล ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนในการนำผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยผู้ประกอบการไทยไปนำเสนอและเข้าร่วมประกวดรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 90 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 80,489,637 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,106,745,802 บาท


พ.ศ. 2556 “ปีแห่งการสร้างธุรกิจนวัตกรรมสู่ AEC”

สนช. มุ่งเน้นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประเทศไทย ยังคงความสามารถของการเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 84 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 82,945,152 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,043,720,027 บาท

พ.ศ. 2555 “ปีแห่งการก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดย สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 261 โครงการ ซึ่งมีวงเงินสนับสนุนรวม 120,245,422 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,278,063,488 บาท

พ.ศ. 2554 “ปีแห่งการยกระดับยุทธศาสตร์นวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างมีรากฐาน ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศในระยะยาวซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 119 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 91,039,862 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,979,189,454 บาท

พ.ศ. 2553 “ปีแห่งการสร้างอุตสาหกรรมใหม่”

สนช. มุ่งเน้นการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการยกระดับห่วงโซ่อุปทานและชักนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 123 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงินรวม 64,721,189 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 936,369,539 บาท

พ.ศ. 2552 “ปีแห่งการพัฒนานวัตกรรมระบบเปิด”

สนช. มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้จากหน่วยงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาประยุกต์ใช้และได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการรังสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 98 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงินรวม 71,120,810 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,828,202,542 บาท นอกจากนี้ สนช. ยังได้รับรางวัล “หน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ (ด้านส่งเสริมธุรกิจเอกชน)” จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2551 “ปีแห่งการร่วมรังสรรค์นวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นการร่วมมือกับเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม ประกอบด้วยหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการรังสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 83 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงินรวม 49,670,270 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 804,247,328 บาท

พ.ศ. 2550 “ปีแห่งการสร้างระบบนวัตกรรม”

สนช . มุ่งพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศโดยดำเนินการในสามด้าน ได้แก่ แผนยกระดับนวัตกรรม แผนส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม และแผนสร้างระบบและองค์กรนวัตกรรม ซึ่ง สนช. ได้พัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 87 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการและการเงินรวม 117,331,099 บาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,031,748,862 บาท

พ.ศ. 2549 “ปีแห่งการสร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายนวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นให้เกิดการร่วมกันทำงานในลักษณะของหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเอกชน อาทิ การเชิดชูเกียรติเมธีส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Ambassador) เพื่อสร้างเครือข่ายนวัตกรรมของผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ความร่วมมือในการจัดงานตลาดนัดนวัตกรรม 2549 ระหว่าง สนช. วช. สสว.

พ.ศ. 2548 “ปีแห่งการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในประเทศ อาทิ การริเริ่มจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2548 การริเริ่มจัดงานประชุมระดับนานาชาติด้านการจัดการนวัตกรรม

พ.ศ. 2547 “ปีแห่งการสร้างระบบการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม”

สนช. มุ่งเน้นการสร้างแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อยกระดับนวัตกรรมของประเทศ การพัฒนาและสนับสนุนโครงการนวัตกรรม การส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม และการพัฒนาองค์กรนวัตกรรมและนโยบายนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ