สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

WORKATION: อยู่ที่ไหนก็สุขได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน

บทความ 18 มีนาคม 2565 1,892

WORKATION: อยู่ที่ไหนก็สุขได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน


สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เทรนด์การทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ หรือที่เรียกกันว่า Work From Home บูมขึ้นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้บริษัทใหญ่ๆ จำนวนมากได้เริ่มนำร่องและสนับสนุนการทำงานในรูปแบบ Work from Anywhere มานานหลายปีแล้ว เช่น Google ที่สนับสนุนการทำงานที่บ้าน เนื่องจากบริษัทรู้ถึงข้อจำกัดที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละคนจึงได้หาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงที่สุด โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพนั่นก็คือ “ความสุขในการทำงาน” ถ้าพนักงานมีความสุขในการทำงานก็มีแนวโน้มว่าผลงานก็จะออกมาดี

เราลองมาดูกันว่าปัจจัยอะไรบ้างที่อาจจะส่งผลให้พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน บางคนอาจมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย บางคนไม่ชอบเดินทางช่วงที่มีการจราจรติดขัด และพยายามหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ หรือการใช้เวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานหลายชั่วโมงทำให้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง เวลาในการดูแลตัวเองน้อยลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยที่คนส่วนมากไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะเป็นชนวนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และหลังจากการคลายล็อกดาวน์ของหลายประเทศรวมถึงในประเทศไทย ทำให้มีการปรับกลับมาทำงานแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง การพบปะผู้คน และการออกจากบ้านเพื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ตามวิถีเดิมที่เราเคยทำจึงค่อยๆ กลับมา อาจจะไม่เหมือนเดิม 100% แต่ก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวหรือรวมตัวกันหลายคน แต่มองหาสถานที่ที่ห่างไกลออกไปเพื่อพักผ่อน เพราะเรายังคงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะน้อยลงแต่ถ้าเลี่ยงได้หรืออยู่ห่างกันสักนิดจะรู้สึกปลอดภัยกว่า ทำให้การทำงานในรูปแบบ Work From Home เกิดการปรับเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “Work From Anywhere หรือที่หลายคนเรียกกันว่า Workation”


แค่กลับมาเจอผู้คน ยังฟื้นพลังชีวิตได้ไม่มากพอ


นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเองก็รู้สึกเช่นนี้มาตลอด การใช้ชีวิตที่เสมือนจะกลับไปเหมือนเดิมแต่ก็ไม่เหมือนเดิม คล้ายกับการที่เราไปเที่ยวกับเพื่อน แต่รอบนี้เพื่อนมาไม่ครบทีม เพราะจากคนที่ชอบท่องเที่ยวมาโดยตลอด วันหยุดก็จะไปเที่ยว แต่ครั้งนี้การกลับมาเจอเพื่อนร่วมงานยังต้องเลี่ยงการสังสรรค์ ไม่ว่าจะมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นที่มักจะพากันไปเช็คอินตามร้านเด็ดก่อนกลับบ้าน เมื่อถึงวันหยุดก็ยังต้องระแวงที่จะไปห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่างๆ เพราะกลัวว่าจะติดโควิดมาจากสักที่ จึงมีความหวังว่าน่าจะมีนวัตกรรมอะไรสักอย่างที่ช่วยให้เราสามารถทำงานควบคู่ไปกับความหลงใหลในการท่องเที่ยวได้


เริ่มมี “นวัตกรรมสังคม” เปลี่ยนการทำงานที่น่าเบื่อหน่ายให้มีความสุข

เมื่อพยายามเสาะหา ก็พบกับ “ดอยสเตอร์ โนแมด” จากทีมเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เริ่มปรับการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนภายหลังจากสถานการณ์โควิด โดยอาศัยหลักคิดว่า หากต้องกักตัวเพื่อทำงานคนเดียวเหงาๆ อยู่ที่บ้าน ทำอย่างไรจะเปลี่ยนมาทำงานในสถานที่ท่องเที่ยวได้ จึงเลือกใช้สถานที่พักในป่าเป็นที่พักผ่อนอันห่างไกลผู้คนตอบโจทย์การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมกับสามารถทำงานในระหว่างวันแบบ Work From Home ได้อีกด้วย 

แม่ฮ่องสอน DoiSter CraftStay


โควิดไม่ใช่แค่ตัวเร่งปฏิกิริยาในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่กลับเป็นผลดีเกินคาด เพราะชุมชนได้มีการตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรถึงจะยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับเช่นนี้ เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงดึงองค์ความรู้ในมุมของธุรกิจแบบ 100% มาปรับเป็นการทำธุรกิจเพื่อชุมชน ดึงรายได้เข้าสู่พื้นที่โดยตรงจากนักท่องเที่ยวไปยังชุมชน ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งนวัตกรรมการจัดกระบวนการการท่องเที่ยวนั้น ได้ฝึกอบรมชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางพื้นที่ Co-Working Space ของแต่ละที่พักและยังคงคอนเซ็ปต์เดิมไม่ปรับเปลี่ยนรูปทรงบ้าน แต่เพิ่มเฟอร์นิเจอร์และปรับผังการวางเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีพื้นที่ในการทำงานได้ หรือการเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม การฝึกอบรมชุมชนในเรื่องการต้อนรับ การดริปกาแฟ การทอผ้า การละเล่นท้องถิ่น หรือรับประทานอาหารร่วมกันถึงแม้จะมีวิถีที่เป็นแกนหลัก แต่ก็ปรับเพื่อให้นักท่องเที่ยวเองรู้สึกสบายใจถ้าต้องการเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยทีมดอยสเตอร์ได้นำปัญหาที่ได้เจอจากการเที่ยวชุมชนที่เคยทำมา เช่น ชุมชนรู้สึกประหม่าเมื่อเจอคนนอกจึงไม่กล้าที่จะพูดคุย ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเหมือนชุมชนไม่ต้อนรับ ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกดีของการมาเยือนทั้งคู่แต่ไม่รู้วิธีการสร้างความสัมพันธ์ โดยนำมาปรับให้เหมาะสมเกิดเป็นนวัตกรรมการจัดการการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งหลังจากเข้าไปช่วยพื้นที่เพื่อให้เกิดเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคม” ทำให้การเข้ามาของนักท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ของชุมชนผสานกันได้อย่างลงตัวนั้น รายได้เสริมที่เข้ามาจึงกลายเป็นผลตอบแทนที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ก้มหน้าเจอคอม เงยหน้าเจอภูเขา


“พอฉันได้มาใช้ชีวิตกับชุมชนชาวอาข่าที่นี่ ทำให้เห็นว่าชีวิตของฉันที่เยอรมัน ช่างเคร่งเครียดมาก ต้องขยัน ต้องแข่งขัน ไม่มีความสุขเอาเสียเลย เมื่อได้มาเห็นชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้และได้ลองอยู่กับพวกเขานานๆ ก็เลยเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างจึงจะมีความสุข ชีวิตมันมีทางเลือกมากกว่านั้น”

นี่คือคำพูดของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่ได้กล่าวไว้ จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ทำให้ชุมชนได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ คือกลุ่ม Digital Nomad โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาพักในประเทศไทยเป็นเวลาหลายเดือนและใช้ที่พักเป็นที่ทำงานไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวันที่พัก ช่วงเวลาการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมที่ต้องการทำ โดยทางชุมชนสามารถจัดสัดส่วนให้ได้อย่างสะดวกสบาย เช่น วันจันทร์ประชุม วันอังคารเช้านั่งทำงาน ในช่วงบ่ายต้องการขอไปดริปกาแฟกับชาวดอย และกลับมาทำงานต่อในช่วงเย็นก็สามารถทำได้ ปัจจุบันทีมดอยสเตอร์ได้จัดการอบรมและช่วยเหลือชาวเขาเพื่อตอบรับนักเที่ยวในรูปแบบ Workation ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่การจัดเส้นทางหรือกิจกรรมเป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยวเท่านั้น อีกเหตุผลที่นักท่องเที่ยวเลือกถอยห่างจากความวุ่นวาย หรือออกมาพึ่งธรรมชาติในป่ามากขึ้น คือความสงบที่แท้จริงที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานไปพร้อมกับเที่ยวนี่ดีที่สุดแล้ว 


ชีวิตในเมืองหลวงอาจไม่ตอบโจทย์เสมอไปในมุมของความสุข หลายครั้งเราทำงานหนักเพื่อเก็บเงินไปพักผ่อน และกลับมาทำงานหนักด้วยความเคร่งเครียด สุขภาวะทางจิตที่แย่ลง อาจจะมาจากทั้งความวุ่นวาย เสียงรถ เสียงผู้คนที่มากเกินไป ชีวิตวนเวียนแบบเดิมในแต่ละวัน การปรับการทำงานจากการนั่งออฟฟิศ 5 วัน เปลี่ยนเป็น 3 วัน อีก 2 วันนั่งบนดอย จิบกาแฟหรือชาหอมๆ พร้อมประชุมทางไกลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อาจจะเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์คนทำงานในรูปแบบใหม่ อีกทั้งการท่องเที่ยวพร้อมการทำงานในแบบ Workation นั้น ผลที่ได้ตามมาคือ การบำบัดการเสพติดสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Detox ที่ช่วยลดเวลาจากการจ้องมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เป็นการเดินเข้าป่าเพื่อซึมซับบรรยากาศ ช่วยให้ผ่อนคลาย เสริมสร้างสมาธิ และเพิ่มการใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น ไม่แน่ในระยะต่อจากนี้เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในการทำงานที่ตอบโจทย์ชีวิตที่มีความสุขสำหรับองค์กรในไทยอีกเป็นจำนวนมากก็ได้


ข้อมูลอ้างอิง: https://brandinside.asia/entrepreneur-tell-how-work-from-home-look-like/ 
ขอบคุณภาพประกอบ: https://www.facebook.com/doisterwannabe/


บทความโดย
อัฑฒ์รุจ อิ่มบุณยวัฒน์
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)