สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“ธุรกิจเงินร่วมลงทุน” จุดคลิกสำคัญสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม

บทความ 29 มีนาคม 2565 7,892

“ธุรกิจเงินร่วมลงทุน” จุดคลิกสำคัญสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม


รู้จักกับธุรกิจเงินร่วมลงทุน

“ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)” หรือที่เรียกกันว่า VC เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่นักลงทุนจะสนับสนุนเงินทุนให้แก่วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่นักลงทุนมองเห็นโอกาสในการเติบโต ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเงินรูปแบบอื่น โดยวิสาหกิจที่ได้รับเงินทุนดังกล่าวมักนำเงินไปพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจของตนเพื่อขยายกิจการ ฐานลูกค้า รวมถึงการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการลงเงินเป็นรอบตามระยะของธุรกิจ และใช้เวลาลงทุนประมาณ 3-5 ปี สูงสุดไม่เกิน 10 ปี  ทั้งนี้ ในหนังสือ The Startup Owner’s Manual ผู้เขียน สตีฟ แบลงค์ ได้ให้คำจำกัดความของวิสาหกิจเริ่มต้นไว้ว่าเป็น “กิจการที่จัดตั้งขึ้นชั่วคราวเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ (scalable) ทำซ้ำได้ (repeatable) และได้กำไร (profitable)”



ความสัมพันธ์ของธุรกิจร่วมลงทุนกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม

หากต้องการเห็นภาพว่า VC มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมอย่างไร เราคงต้องมองย้อนไปถึงจุดกำเนิดของ VC ในช่วงปี ค.ศ. 1946 บริษัท American Research and Development Corporation (ARD) ดำเนินการลงทุนในบริษัทที่นำเทคโนโลยีที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาขยายสู่เชิงพาณิชย์ โดยภายในระยะเวลา 9 ปี จากเงินลงทุนจำนวน 2 แสน ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทสามารถทำกำไรได้ถึง 1.8 ล้านดอลลาสหรัฐ เรียกได้ว่าเป็นกำไรที่น่าทึ่งมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันวิสาหกิจเริ่มต้นมักเป็นผู้นำผลงานจากห้องทดลองวิทยาศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมาสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ตลาด ซึ่ง VC มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยการสนับสนุนเงินทุนให้ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นทั้งหลายสามารถอยู่รอดในตลาดเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป

หากลองถอยออกมามองภาพใหญ่ในเชิงมหภาคจะพบว่าปัจจุบันประเทศส่วนมากของโลกมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากการควบคุมโดยรู้จักกันในนามของระบบทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งระบบเศรษฐกิจนี้มีผลกระทบกับนวัตกรรมในหลากหลายมุมและส่งผลกระทบต่อกันและกันเป็นอย่างมาก โดยหากนึกถึงนวัตกรรมในยุคนี้ก็มักจะนึกถึง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตจากความต้องการสร้างตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท รวมถึงความต้องการที่จะก้าวเป็นผู้นำตลาด ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่ตลาดเก่าเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัว ก็จะเป็นเวลาให้ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มหรือเพิ่มพูนตลาดด้วยนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์โดยมีกลุ่มนักลงทุนที่เป็น VC อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวนั่นเอง


นโยบายภาครัฐขับเคลื่อนนวัตกรรม

ในแง่มุมของการปกครองมหภาคระดับประเทศ นโยบายหรือการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะความเป็นนวัตกรรมของประเทศและขนาดเศรษฐกิจไม่ได้แปรผันไปในทางเดียวกันเสมอไป เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเติบโตเกินความเป็นนวัตกรรม เนื่องจากรัฐบาลจีนได้เข้าไปแทรกแซงบริษัทเทคโนโลยีในปี ค.ศ. 2020 มากเกินไปจนทำให้วิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีได้รับผลกระทบในเชิงการลงทุนอย่างมาก ดังนั้นกลไกของภาครัฐมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างมาก จะเห็นได้ว่า เมื่อปี ค.ศ. 1958 สภาคองเกรสแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Small Business Investment Act ขึ้นเพื่อเร่งการลงทุนของ VC โดยการให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนทางภาษีแก่นักลงทุน ทำให้การลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นที่สนใจมากขึ้นในกลุ่มทุนและบุคคลที่มีกำลังทรัพย์ ซึ่งทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาจากภาคเอกชนโดยเป็นผลพวงมาจากนโยบายภาครัฐดังกล่าว และเป็นการช่วยเร่งการพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1978 ประเทศสหรัฐอเมริกายังได้เพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติรายได้ (the Revenue Act)  เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมวิสาหกิจเริ่มต้น โดยลดภาษีในส่วนเงินกำไรที่ได้จากทุน (Capital Gain) จากเดิมในอัตราภาษี 49% เป็น 28% 

นอกเหนือจากฝั่งนิติบัญญัติแล้ว ฝั่งบริหารหรือทางภาครัฐยังสามารถจัดตั้งหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อผลักดันนวัตกรรมภายในประเทศในรูปแบบที่ครบวงจร ทั้งการให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการ การประสานงานกับสำนักงานวิจัยเพื่อนำงานวิจัยมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพในตลาด และให้ทุนเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจขนาดเล็กของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น และผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดโลกได้


สถานการณ์ VC ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ความพยายามในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้เกิดการเติบโตและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงโอกาสการเข้าถึง VC ที่มีมูลค่าการลงทุน (เท่าที่เปิดเผยได้) สูงถึง 365 ล้านดอลลาสหรัฐ ในปี 2020 (+203% YoY)



นอกจากนั้นประชาชนทั่วไปยังมีความเข้าใจถึงกลไกของ VC มากขึ้นในเชิงการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ผ่านรายการที่ให้ความรู้ เช่น รายการ นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้ ซึ่งเป็นรายการที่พาตามติดเรียนรู้ชีวิตผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในระดับภูมิภาคจากทั่วประเทศ ซึ่งจะเห็นแนวทางการนำนวัตกรรมมาต่อยอดธุรกิจของพวกเขา หรือรายการ Shark Tank Thailand ที่ดำเนินรายการโดยการให้วิสาหกิจเริ่มต้นมานำเสนอไอเดียธุรกิจกับกรรมการซึ่งเป็น VC จากบริษัทชั้นนำและนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) จะเห็นได้ว่ารายการเหล่านี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับวงการนี้มากขึ้น

ในเชิงกฎหมายในประเทศไทยก็ได้มีการออกกฎหมายที่เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในการระดมทุน เช่น ประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่ปลดล็อกให้วิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดย่อมสามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ให้กับนักลงทุนซึ่งรวมไปถึง VC ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ เหตุผลในการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากโดยทั่วไปบริษัทจำกัดไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หากลองเจาะลึกลงไปถึงผู้เล่นปัจจุบันในตลาดจะมีทั้งนักลงทุนอิสระและบริษัทลงทุน เช่น K2 Venture Capital, 500 tuktuks, Sparx Ventures โดยผู้ลงทุนประเภทนี้มุ่งเน้นแสวงหากำไรจากการลงทุน หรืออีกประเภทหนึ่งคือ Corporate Venture Capital ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหรือกองทุนของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่โดยจะแตกต่างจากบริษัทลงทุนทั่วไปที่วัตถุประสงค์ เนื่องจากมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Objective) ในการแสวงหาความเป็นนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสินค้า ซึ่งอาจะเป็นผลประโยชน์ในเชิงนอกเหนือจากมูลค่าทางบัญชี (book value) หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ทั้งนี้ ระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทยที่มีการเติบโตเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้ความเป็นนวัตกรรมของประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าและผลิตสินค้าใหม่ๆ มาสู่ตลาดไทยและตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง

แหล่งอ้างอิง:

  1. https://www.economist.com/leaders/2021/11/27/adventure-capitalism
  2. https://www.nytimes.com/2013/08/18/business/why-innovation-is-still-capitalisms-star.html
  3. https://hbr.org/1998/11/how-venture-capital-works
  4. https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2022-01-24/how-the-venture-capital-industry-created-the-modern-world
  5. https://www.wsj.com/articles/venture-capital-becomes-a-tech-battleground-between-china-u-s-11643202001
  6. https://www.investopedia.com/terms/v/venturecapital.asp
  7. หนังสือ Unicorn Tear
  8. https://www.scbeic.com/th/detail/product/4230
  9. https://www.bangkokpost.com/business/1397750/venture-capital-rising-for-startups
  10. https://sme.go.th/en/page.php?modulekey=417
  11. https://www.bangkokpost.com/business/1929144/startup-funding-drought-during-pandemic


บทความโดย
ศิวกร ลิ้มวัฒนะกูร
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)