สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมแถลงนวัตกรรมเฝ้าระวัง-ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์-ฟื้นฟู อุทกภัยปี 68

News 26 พฤษภาคม 2568 50

NIA ร่วมแถลงนวัตกรรมเฝ้าระวัง-ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์-ฟื้นฟู อุทกภัยปี 68

26 พฤษภาคม 2568 - น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระดมทุกหน่วยงานลุยช่วยน้ำท่วม 68 แถลงแผน "อว. ขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรมสู้ภัยน้ำ" ณ กระทรวง อว. โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวง อว.  เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว.

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 และมีความเสี่ยงเกิดพายุหมุนเขตร้อน 1–2 ลูก ส่งผลให้บางพื้นที่อาจประสบภาวะน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลจึงได้ยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูระบบนิเวศ ไปจนถึงการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการคาดการณ์และเตือนภัย 

โดยในส่วนของกระทรวง อว. ได้ระดมทุกหน่วยงานในสังกัดซึ่งมีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติในฤดูฝนปีนี้ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เชิงพื้นที่ บูรณาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนานโยบายและมาตรการ โดยให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เข้าไปมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลไกกองทุน ววน. ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย หรือ PMU โดยมี 5 หน่วยงานที่อยู่ในกระทรวง อว. ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน (บพค.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอย่างครบวงจร

หนึ่งในโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้วคือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. เพื่อประชาชน โดยมีคณะทำงาน 3 ชุด รับผิดชอบครอบคลุมทุกระยะของภัย ได้แก่ การเฝ้าระวัง การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังน้ำลด นอกจากนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติในแม่น้ำสาย บริเวณชายแดนไทย–เมียนมา ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงด่านแม่สาย จ.เชียงราย เพื่อรายงานระดับน้ำแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน “ThaiWater” ซึ่งจะช่วยเตือนภัยล่วงหน้าได้ถึง 3–4 ชั่วโมงก่อนที่มวลน้ำจะมาถึง ขณะเดียวกัน ในแอปพลิเคชัน “ThaiWater” กระทรวง อว. ยังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในชื่อ “พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ” ที่สามารถแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากล่วงหน้า 48 ชั่วโมงในระดับตำบล ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ในการเตรียมการรับมือ

สำหรับการสนับสนุนของ NIA นอกเหนือจากนวัตกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานที่จะสามารถนำความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ผู้ประสบภัยพิบัติได้ทันทีแล้ว ยังมีการให้ทุนสนับสนุน "วิสาหกิจชุมชนเวลเนสดอยตุง" ในการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบแจ้งเตือนภัยดินสไลด์ ที่แม่นยำผ่านแอปพลิชัน โดยเป็นการนำเทคโนโลยี IoT และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนภัยดินสไลด์ในพื้นที่ภูเขาสูง ซึ่งเป็นการใช้ Machine Learning พัฒนาระบบการเรียนรู้สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศเฉพาะถิ่น และลักษณะทางธรณีวิทยา จากข้อมูลระบบเครือข่ายเซนเซอร์ IoT ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น เซนเซอร์วัดความชื้น เซนเซอร์วัดการเคลื่อนตัวของดิน ข้อมูลจากดาวเทียม หรือข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลที่หลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อการวิเคราะห์ที่ครอบคลุม และเกิดระบบที่เหมาะสมและแม่นยำมากขึ้นสำหรับการใช้งานในพื้นที่ ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เพื่อการปรับตัวหลังจากประสบภัย อีกทั้งยังสามารถขยายผลนวัตกรรมสู่พื้นที่ข้างเคียงซึ่งมีความเสี่ยงต่อไปได้อีกด้วย

#NIA #Innovation #MHESI #อว #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม