สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA เผยบทสรุปนวัตกรรมไทยปี 2021 พร้อมเดินหน้าหนุนนวัตกรรมไทยรับมือความท้าทายใหม่ปี 2022

News 22 ธันวาคม 2564 3,106

NIA เผยบทสรุปนวัตกรรมไทยปี 2021 พร้อมเดินหน้าหนุนนวัตกรรมไทยรับมือความท้าทายใหม่ปี 2022


ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาการใช้นวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพของประเทศถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด – 19 และยังส่งผลให้การแข่งขันในประเด็นดังกล่าวของประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามองในหลากหลายด้าน 

เร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก
เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ NIA เป็นผู้ริเริ่มโปรแกรมสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การแพทย์ อาหาร การเกษตร อวกาศ เทคโนโลยีป้องกัน และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ NIA ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทดีพเทคได้ประมาณ 100 ราย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็นดีพเทค จำนวน 60 ราย 

เพิ่มโอกาสทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค
ขณะนี้มีการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ 12 ย่านทั่วทุกภูมิภาค มีภาคีอยู่ทั้งหมด 217 ภาคีทั้งในส่วนรัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย มีนวัตกรในเครือข่ายประมาณ 12,000 คน มีการจัดตั้ง Startup Global Hub ที่ให้บริการข้อมูลธุรกิจ การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย การให้สมาร์ทวีซ่ากับชาวต่างชาติที่ทำงานด้านนวัตกรรมในประเทศ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในพื้นที่ผ่าน “นิลมังกรแคมเปญ” เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาคอีกด้วย

อันดับนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างมั่นคง
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) ประเทศไทยครองอันดับที่ 50 และมีถึง 4 เมืองที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด โดยกรุงเทพสามารถกระโดดขึ้น 19 อันดับจากอันดับ 90 สู่อันดับที่ 71 เชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 397 ภูเก็ต อันดับที่ 442 (พุ่งขึ้น 428 อันดับจากเดิม อันดับที่ 870) และสุดท้ายเมืองน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาติดอันดับเป็นปีแรกคือพัทยาที่อยู่ในอันดับที่ 833 

นวัตกรรมสังคมลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ BCG
มีการพัฒนา “นวัตกรรมสังคม” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดยากจน ผ่านโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมที่อาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม ไปสู่ชุมชนหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกิดนวัตกรรมพร้อมใช้งานจำนวน 89 ผลงาน ใน 11 จังหวัด มีผู้ได้รับผลประโยชน์ 44,568 คน สร้างให้เกิดมูลค่าผลลัพธ์เชิงสังคมรวม 196.56 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขาและโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับเมือง ที่จะมาแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมืองอีกด้วย

คนรุ่นใหม่ในภาคนวัตกรรม
NIA ริเริ่มพัฒนาแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่า STEAM4INNNOVATOR  ที่เน้นการบูรณาการเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM เพื่อให้เยาวชนสามารถสร้างสังคมนวัตกรรมและวัฒนธรรมของการสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำไปขยายผลอย่างแพร่หลายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษามากกว่า 50 แห่ง ที่มีนักเรียนมากกว่า 10,000 คน รวมถึงได้พัฒนาโครงการอบรมคุณครู (Trainer’s Lab) เพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาเยาวชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ผ่านโครงการ Startup Thailand League ซึ่งในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 40 แห่งทั่วประเทศ มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 48,000 คน และมีนักศึกษาที่ได้รับเงินสนับสนุนในการจัดทำผลงานต้นแบบ 200 ทีม เงินรางวัลรวมกว่า 5 ล้านบาท 

นวัตกรรมไทยกับการเปลี่ยนแปลงระดับโลก
สุดท้ายนี้ NIA ยังมีเป้าหมายสนับสนุนนวัตกรรมที่ทันต่อบริบทความท้าทายของโลก ซึ่งประกอบด้วย การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาด้านเศรษฐกิจชะลอตัว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการลงทุนแบบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, and Governance; ESG) ด้วยการสร้างระบบนิเวศด้านนี้ให้มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุน และเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ARI, Metaverse และ Biomed อาทิ สังคมไร้เงินสด การประชุมออนไลน์ การทำงานแบบ WFH การแพทย์ทางไกล การพัฒนาวัคซีน แม้บางครั้งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม แต่ก็ได้รับการคาดหวังว่าจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น จักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse ที่อยู่ในกระแสความสนใจในปัจจุบัน 
.