สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Seed Funding: เพาะเมล็ดพันธุ์สู่ต้นกล้าที่แข็งแรง

บทความ 16 มิถุนายน 2565 5,430

Seed Funding: เพาะเมล็ดพันธุ์สู่ต้นกล้าที่แข็งแรง


วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแปลกใหม่โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพื่อตอบโจทย์ตลาดในวงกว้างและก้าวข้ามขีดจำกัดที่มีอยู่เดิม ซึ่งบางกรณีอาจทำลายรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไปตลอดกาลได้เลยทีเดียว เช่น กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก เน็ตฟลิคซ์ แกร็บ ฯลฯ ซึ่งการที่บริษัทสตาร์ทอัพจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น การระดมทุนจึงถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการสตาร์ทอัพมาช้านาน โดยแบ่งเป็นระดับตามระยะการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะมีขนาดการลงทุน แหล่งเงินทุน และข้อบ่งชี้ถึงความศักยภาพของสตาร์ทอัพแตกต่างกันไป


ทำความรู้จักกับ Seed Funding

Seed Funding คือ ช่วงการระดมทุนของสตาร์ทอัพที่ต้องการนำเงินมาใช้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งทดสอบการยอมรับของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าผลิตภัณฑ์และบริการสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้อย่างตรงจุดหรือไม่ ผลิตภัณฑ์สามารถตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายหรือไม่ หรือแม้กระทั่งสร้างฐานลูกค้าและสร้างกระแสเงินสดเข้ามาในธุรกิจ การระดมทุนระยะนี้มักมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 3-30 ล้านบาท แลกกับการเป็นหุ้นส่วน (equity) หรือบางกรณีอาจอยู่ในรูปแบบของหุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible note) โดยแหล่งเงินทุนที่สำคัญ ได้แก่ ครอบครัวและเพื่อนสนิท (Family and Friends) เทพลงทุน (Angel Investor) ศูนย์เร่งสร้างธุรกิจ (Accelerator) แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) และธุรกิจร่วมลงทุนระยะเริ่มต้น (Seed VC)

คำว่า “Seed” สื่อถึงเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่งอก ต้องอาศัยการรดน้ำพรวนดิน ดูแลเอาใจใส่ และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมจึงจะสามารถแทงรากแตกหน่อและเติบโตเป็นต้นกล้าที่โผล่พ้นดินขึ้นมาได้ เปรียบเสมือนธุรกิจสตาร์ทอัพแต่ละรายที่มีธรรมชาติเป็นของตัวเองและยังอยู่ในระยะลองผิดลองถูก โดยมีเงื่อนไขของเวลาเป็นข้อจำกัด และมีอนาคตของธุรกิจเป็นเดิมพัน เพื่อหาเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นตลาดเป้าหมาย คุณค่าที่ส่งมอบ ดีไซน์และวิธีการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ราคา เป็นต้น ดังนั้น การระดมทุนในช่วงนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็น “น้ำหล่อเลี้ยง” ให้สตาร์ทอัพสามารถจดจ่อกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เหมาะสมแล้ว ในหลายกรณีโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน มักมีความรู้ความเข้าใจและมุมมองในการทำธุรกิจที่ไม่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องอาศัยนักลงทุนในรอบนี้ มาช่วยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด (หรือแม้กระทั่งลงมาช่วยทำธุรกิจเองในบางกรณี) เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสามารถตั้งตัวได้ และพาธุรกิจไปให้ถึงหมุดหมายทางธุรกิจถัดไป


สถานการณ์และแนวโน้มการลงทุน Seed Round ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลก

ปี 2021 สตาร์ทอัพในประเทศไทยสามารถระดมทุนระดับ Seed (รวม Pre-Seed และ Pre-Series A) ได้จำนวน 33 ราย (คิดเป็นร้อยละ 56.90 ของจำนวนการระดมทุนทั้งหมด) รวมมูลค่าอย่างน้อย 13 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 4.08 ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมด) คิดเป็นขนาดการลงทุนเฉลี่ยต่อรายที่ 0.5-0.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ 3-4 เท่า ซึ่งในระยะสั้นอาจส่งผลให้สตาร์ทอัพไทยเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพต่างประเทศที่มีเงินทุนหนุนหลังหนากว่า ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้เร็วกว่าและช่วงชิงความเป็นผู้นำในตลาดได้เร็วกว่า นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าแนวโน้มจำนวนการระดมทุนระดับ Seed ในประเทศไทยนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในธุรกิจเดิมที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของตัวเองมากกว่าลงทุนในสตาร์ทอัพหน้าใหม่ระยะ seed ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากจะมีสตาร์ทอัพที่เข้าสู่การระดมทุนระดับ Series A จำนวนน้อยลง ทำให้นักลงทุนอาจต้องหันไปลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้สตาร์ทอัพของประเทศไทยเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย


กะเทาะเมล็ดส่องปัญหา Seed Startups ในประเทศไทย

จากรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 จัดทำโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พบว่า อุปสรรคของสตาร์ทอัพระดับ Seed ส่วนใหญ่อยู่ที่ศักยภาพของทีมผู้ก่อตั้ง ซึ่งมักให้ความสนใจเพียงแค่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตนเชี่ยวชาญเป็นหลัก แต่ยังขาดทักษะการวางแผนการเงิน การบริหารจัดการองค์กร ความรู้ความเข้าใจด้านการตลาดและการขยายธุรกิจ รวมทั้งยังมีอุปสรรคด้านทักษะทางภาษาและความเข้าใจวัฒนธรรมของตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้สตาร์ทอัพในประเทศไทยจำนวนมากยังมีศักยภาพไม่มากพอที่จะได้รับเงินทุนจากนักลงทุน รวมถึงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมองเห็นอนาคตร่วมกันหลังลงทุนได้ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้นักลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับเติบโตแทน ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ประเทศไทยมีสัดส่วนของนักลงทุนประเภทบริษัทขนาดใหญ่ (CVC) ถึงร้อยละ 60 ในขณะที่นักลงทุนประเภทธุรกิจร่วมทุน (VC) มีอยู่เพียงร้อยละ 23 และเทพลงทุน (Angel Investor) มีอยู่เพียงร้อยละ 10 ปัจจุบันจำนวนนักลงทุนที่ลงทุนสตาร์ทอัพในระดับ Seed มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง แม้กระทั่งกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกที่มาตั้งสาขาในประเทศไทยและเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Seed and Early-Stage) ก็ไม่เปิดกองทุนที่ลงทุนใน Seed Round แล้ว คาดว่าจะมีเพียง SMEs Private Equity Trust Fund จำนวน 3 กองทุนที่บริหารโดย N-Vest Venture ที่ยังลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นในประเทศไทย ส่วนกองอื่นหันไปลงทุนในระยะที่โตขึ้น หรือไม่ก็ลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้น


ภาครัฐควรทำอย่างไรเพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ชั้นยอดให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเหน้าใหม่ การลงทุน การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการของภาครัฐ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Startup Thailand League กองทุนยุวสตาร์ทอัพ โครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นรายสาขา มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยภาครัฐ การส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย การจัดตั้งศูนย์สตาร์ทอัพไทยแลนด์ การจัดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระหว่างสตาร์ทอัพกับนักลงทุน การบ่มเพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ และอีกมากมาย อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวข้างต้นมักไม่ได้มาพร้อมกันเป็นห่อเดียว ทำให้สตาร์ทอัพระดับเริ่มต้นที่ต้องการทั้งเงินทุน ทักษะ และแรงงานในเวลาเดียวกันไม่สามารถตั้งตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรงเพียงพอที่จะระดมทุนในรอบถัดไป เหมือนการมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่มีสภาวะที่ไม่เหมาะสมจึงไม่สามารถงอกรากออกมาได้อย่างแข็งแรง ดังนั้น การมีศูนย์เบ็ดเสร็จ (one-stop center) ที่สามารถให้ได้ทั้งเงินทุน ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเครือข่ายที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งก็คือ ศูนย์บ่มเพาะและเร่งสร้างที่มาพร้อมกับเงินลงทุนนั่นเอง

ความจริงแล้ว ที่ผ่านมามีโครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพลักษณะนี้อยู่ ซึ่งหลายโครงการได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการ Dtac Accelerate ซึ่งเป็นศูนย์เร่งสร้างสตาร์ทอัพยุคบุกเบิกและเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนและปั้นสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยมาแล้วจำนวนมาก รวมทั้ง Bitkub ซึ่งเป็นยูนิคอร์นของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ เช่น SPACE-F, AGrowth, NSTDA DeepTech Acceleration, DEPA Smart City Accelerator Program, RISE Global Accelerator Program เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้มีจุดเด่นที่มุ่งเน้นการสนับสนุนสตาร์ทอัพรายสาขา ทำให้มีประสิทธิภาพในเชิงการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในวงการ การเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงเครือข่ายนักลงทุน อย่างไรก็ดี โครงการเหล่านี้ ส่วนมากจะสนับสนุนเฉพาะด้านความรู้ การพัฒนาทักษะ และการเชื่อมโยงเครือข่าย แต่จะขาดการสนับสนุนด้านเงินลงทุนที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจ 

ดังนั้น การผลักดันให้เกิดศูนย์เร่งสร้างที่มาพร้อมกับกองทุนสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริมผ่านมาตรการจูงใจต่าง ๆ เช่น การให้เงินสมทบสำหรับกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพไทย มาตรการจูงใจเชิงภาษีเพื่อดึงดูดกลุ่มที่มีชื่อเสียงระดับสากลให้มาตั้งที่ไทย เช่น Y-Combinator, Big Idea Ventures, IndieBio by SOSV, Surge by Sequoia, Techstars เป็นต้น


บทสรุป

ประเทศไทยได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีสตาร์ทอัพที่เก่ง มีภาครัฐและภาคเอกชนที่กระตือรือร้นอยากสนับสนุนสตาร์ทอัพของไทย ตลอดจนเป็นสถานที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติทั้งสตาร์ทอัพและนักลงทุนอยากมาทำธุรกิจและใช้ชีวิตที่นี่ หากแต่ยังขาดตัวกลางที่จะเชื่อมโยงทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของ Seed Startups ดังนั้น หากมีการผลักดันให้เกิดศูนย์เร่งสร้างที่มาพร้อมกับกองทุนที่ลงทุนใน Seed Startups จะเป็นกลไกสำคัญในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ชั้นยอดรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงและเป็นที่พึ่งให้กับประเทศในอนาคตได้อย่างแน่นอน


ที่มาข้อมูล


บทความโดย
นายจิตรภณ จิรกุลสมโชค (เจด)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)