สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

#การเกษตรยุคใหม่ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและสร้างความเข้าใจเรื่องนวัตกรรม

บทความ 8 เมษายน 2565 3,450

#การเกษตรยุคใหม่ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและสร้างความเข้าใจเรื่องนวัตกรรม

 

ถึงเวลาแล้วที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง! เพราะการทำให้การเกษตรในประเทศไทยสามารถเติบโตได้นั้นต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรมเพื่อการเกษตร” โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททุกกระบวนการในการทำการเกษตร ไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลส่งเสริมกัน สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างที่เคยเป็นมา 

 

พูดแค่นี้…หลายคนคงยังไม่เชื่อและมีคำถามมากมายเต็มไปหมด รายการ #NIAnatomy Episode ที่ 5 จึงพาทุกคนมาพูดคุยกับ “คุณนก มณฑา ไก่หิรัญ” ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม บทบาทหลักตอนนี้คือผู้ดูแลงานพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขา โดยดูแลเป็นพิเศษในกลุ่มของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup จาก NIA  ว่า ทำไมเราถึงต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมด้านการเกษตร และจะเดินหน้าพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างไรให้สามารถพลิกโฉมการเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน

 

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่ https://soundcloud.com/niathailand/ep5-nianatomy-podcast

“วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เปรียบเหมือนกับเวทมนตร์ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตร"

ก่อนหน้านี้ที่เราอยู่ในยุคเกษตรแบบดั้งเดิม เกษตรกรอาจต้องพึ่งฟ้าฝนและการคาดเดาจากปัจจัยที่ทำให้มีผลกระทบกับผลผลิต แน่นอนว่าการทำการเกษตรที่อยู่บนรากฐานจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้ผลผลิตไม่เป็นอย่างที่หวัง ขายไม่ได้ราคา หรือมากไปกว่านั้นคือผลผลิตเสียหายจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

จนมาถึงยุคอุตสาหกรรมการเกษตร และกำลังเข้าสู่ยุคเกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร ความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น การควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล เซนเซอร์ ระบบ IoT ต่างๆ ระบบการจัดการฟาร์ม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงปลายน้ำอย่าง การซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์

โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีนวัตกรหรือสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น และ NIA ก็มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 70 ราย รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานการศึกษา ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร

“ไม่ใช่แค่การพัฒนานวัตกรรม NIA ยังมีเป้าหมายให้เกษตรกรสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง"

ในมิติเศรษฐกิจ NIA ก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าทุกวันนี้เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก ซึ่งองค์ประกอบส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการซื้อขายแบบเน้นศูนย์กลาง พึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขายเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือในบางครั้งก็พบกับปัญหาการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ยาก

เราจึงมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางได้ เน้นการสร้างตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน ไม่มีศูนย์กลาง คล้ายๆ กับแนวคิดของกลุ่ม FinTech ที่มี Blockchain เป็นเทคโนโลยีหลักในการทำธุรกรรมด้านการเงินแบบ Decentralized จนเกิดสตาร์ทอัพมากมายหลายราย แม้ด้านการเกษตร หรือ AgTech จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เรามีการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่สร้างตลาดที่เชื่อมโยงทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคแล้วเช่นกัน

เช่น Freshket ตลาดสินค้าการเกษตรออนไลน์ ที่ส่งวัตถุดิบและอาหารแห้งนับพันรายการให้กับร้านอาหารมากมาย ทั้งร้านขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเลือกสรรสินค้าการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกรเลย ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนได้รับเงินลงทุนจาก VC มากถึง 90 ล้านบาทในปี 2020 และมีสตาร์ทอัพอีกเป็นจำนวนมากใน Ecosystem ที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเทรนด์การซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ยังเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายหลักที่เราจะเร่งสร้างการเติบโตให้มากขึ้นในปีนี้อีกด้วย 

“การปั้นสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่เข้าใจปัญหาของเกษตรกรคือกลไกสำคัญที่จะมาพลิกวงการการเกษตรไทย"

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย! และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงกับการเกษตรไทย NIA จึงมุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมสตาร์ทอัพให้มากขึ้น ทั้งในมุมการปรับปรุงคุณภาพที่มุ่งเน้นการใช้ Deep Tech เพิ่มจำนวน เพิ่มความหลากหลาย และสร้างความร่วมมือเพื่อให้ Ecosystem ทำงานได้อย่างสอดประสานกัน และนำมาสู่การสร้างมูลค่าที่มากขึ้นเป็นทวีคูณ ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละโครงการมีเป้าหมายและรูปแบบการเข้าร่วมที่แตกต่างกันไป ตามความเติบโตของแต่ละกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือรูปแบบของนวัตกรรม ดังนี้

- โครงการเน้นการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกร (Problem Solution) ขอแนะนำโครงการ AgTech.AI เป็นโครงการเน้นการนำ AI เข้ามาช่วยพัฒนาด้านการเกษตร เช่น Farm AI, การตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วย AI เป็นต้น ฯลฯ
- โครงการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Market Fit) เข้าร่วมได้ที่โครงการ Inno4Farmer เป็นโครงการที่นำสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมาทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเกษตรกร
- โครงการเน้นการขยายผลเชื่อมโยงเครือข่าย ก็จะมีโครงการ AgTech Connext เป็นโครงการที่เน้นเชื่อมโยงสตาร์ทอัพและเกษตรกรโดยตรงเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้และทดสอบการใช้งานร่วมกัน

จะเห็นได้ว่าโครงการที่ NIA มุ่งเน้นเป็นการเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจปัญหาของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในจุดนี้เองต้องอาศัยสตาร์ทอัพและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างเป้าหมายเดียวกันว่า เราจะพัฒนาวงการเกษตรให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย จึงจะเกิดการพลิกโฉมการเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน