สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับ บิสเนส ฟรานซ์

News 6 กรกฎาคม 2561 2,156

NIA ร่วมกับ บิสเนส ฟรานซ์

NIA ร่วมกับ บิสเนส ฟรานซ์ (ฝ่ายการค้าและพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงาน THAI-FRENCH SMART CITY FORUM เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ (eco-system) เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาย่านนวัตกรรม

การจัดงาน THAI-FRENCH SMART CITY FORUM ในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของผู้แทนหน่วยงานด้านเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิศวกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ที่ปรึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและเมืองอัจฉริยะ เช่น NIA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศไทยได้พบปะกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกด้านเมืองอัจฉริยะจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ACOEM, ARTELIA, BOUYGUES-THAI, DASSAULT SYSTEMS, DEXTRA, EDF INTERNATIONAL NETWORKS, EGIS, ENGIE, MICHELIN, PLATT NERA-SIGFOX, SCHNEIDER ELECTRIC, SAINT-GOBAIN, SUEZ และ VEOLIA จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้แทนจากประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสในการหารือทางเทคนิคเกี่ยวกับโครงการเมืองอัจฉริยะและย่านนวัตกรรมที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในประเทศไทย

การบรรยายพิเศษจากกลุ่มบริษัทเอกชน

นอกจากนี้ จะมีการบรรยายพิเศษจากกลุ่มบริษัทเอกชน Frasers – TCC และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอโครงการ One Bangkok และโครงการเมืองแห่งใหม่ในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรี ตามลำดับ และผู้แทนจากบริษัทเทคโนโลยีประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ Dassault Systèmes, Engie, Saint-Gobain และ Schneider Electric นำเสนอโซลูชั่นเมืองอัจฉริยะและตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

ยุทธศาสตร์ในการยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่

สำหรับการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ในการยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่ NIA ดำเนินการอยู่นั้น มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งระดับภูมิภาค เมือง และย่าน โดยจะพัฒนาใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้าพื้นฐานที่เอื้อต่อการังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน NIA ได้วางเป้าหมายในการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” ทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาครวม 15 ย่าน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 8 ย่าน ได้แก่ โยธี คลองสาน ปทุมวัน กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณวิถี บางซื่อ และรัตนโกสินทร์ ส่วนในภูมิภาค 7 ย่าน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา-บ้านฉาง ภูเก็ต โดยมีเป้าหมายหลักในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของย่าน และการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion) ดึงดูดทุนมนุษย์ทางนวัตกรรมทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และนวัตกร ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งการสร้างงานแห่งอนาคต ซึ่งในแต่ละย่านจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน