สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“ชุมชนเมืองจัง” หมู่บ้านนวัตกรรม คืนความยั่งยืน ผืนป่า และผู้คน

บทความ 17 ธันวาคม 2564 4,100

“ชุมชนเมืองจัง” หมู่บ้านนวัตกรรม คืนความยั่งยืน ผืนป่า และผู้คน

 

เพราะ “รักษ์จัง” NIA จึงพร้อมเข้าไปพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรและสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยนวัตกรรมที่หลากหลายและตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในชุมชน

 

“ตำบลแห่งความมั่นคงทางอาหาร งดงามวัฒนธรรม แหล่งป่าชุมชนต้นน้ำ” นี่คือคำขวัญประจำตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน แต่ทุกคนทราบกันไหมว่า เมืองจังกลับเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ  เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ราบสูง ทำให้ยากต่อการปลูกพืชในหลากหลายชนิด เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยอาศัยน้ำฝนธรรมชาติเป็นหลัก แต่ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ ทำให้ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ต้นทุนสูงกว่าเดิม

 

เกษตรกรในพื้นที่จึงมีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้จังหวัดน่านติดอันดับจังหวัดพื้นที่ที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำต่อเนื่องมาในหลายปี และในทางเดียวกัน การปลูกพืชแบบเดิมซ้ำๆ ในพื้นที่ก็สร้างผลกระทบต่อหน้าดินและในเชิงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันอีกด้วย  พื้นที่ที่เคยสร้างรายได้อาจกลายเป็นศูนย์หากไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน

 

NIA ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมจึงเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจและประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อกำหนดให้ชุมชนนี้เป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ตั้งแต่ในปี 2562 เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยการนำนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ผ่านการคัดสรรมาจากฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมและคนในชุมชนเอง มาปรับใช้กับพื้นที่จริงตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นั้นๆ 

 

สำหรับชุมชนเมืองจังมีการเปิดรับนวัตกรรมพร้อมใช้ใน 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัจฉริยะ การบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชน ซึ่งก็สะท้อนปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น ส่วนจะมีนวัตกรรมอะไรที่ถูกคัดเลือกและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนให้เป็นดังคำขวัญได้จริงก็ต้องลองมาทำความรู้จักกัน 

ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ จากมหาวิทยาลัยอิสเทิร์น เอเชีย

นวัตกรรมแรกเป็นนวัตกรรมเด่นที่ขาดไปไม่ได้ เพราะเป็นนวัตกรรมที่พุ่งเป้าไปที่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนเมืองจัง คือปัญหาการบริหารจัดการน้ำสำหรับพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ราบสูง นวัตกรรมนี้เข้ามาแก้ปัญหาที่เคยทำการเกษตรได้อย่างยากลำบากด้วยการออกแบบระบบสูบน้ำแบบขั้นบันได โดยใช้ระบบสูบน้ำแบบโซล่าเซลล์เพื่อส่งต่อน้ำเป็นจุดๆ ใน 4 ระยะ และมีระบบควบคุมการสูบน้ำโดยใช้ระบบลูกลอยเพื่อส่งน้ำกระจายสู่แปลงเกษตร 

 

จากที่เคยต้องรอน้ำฝน ตอนนี้สูบน้ำได้เฉลี่ย 40,000 ลิตรต่อวันเลยทีเดียว ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำขยายพื้นที่ปลูกพืชผสมผสานปลอดสารเคมีเพิ่มขึ้น 9.3 ไร่ต่อครัวเรือน และลดค่าใช้จ่ายได้ในหลายรายการ 

Neo Solar: ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง จากบริษัท ไดน่าแมค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

นวัตกรรมนี้มีเป้าหมายที่เหมือนกับระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ คือการเข้ามาแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่มีข้อจำกัด แต่ใช้วิธีการที่แตกต่างกัน โดย Neo Solar คือระบบการสูบน้ำที่ใช้แหล่งพลังงานจากโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำที่เชื่อมบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ 800,000 ลิตร ไปยังบ่อพักน้อยขนาด 20,000 ลิตร 5 บ่อ โดยมีระบบควบคุมระบบสูบและกระจายน้ำแบบอัตโนมัติ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาขับรถขึ้นดอยไปเปิดปิดด้วยตัวเอง

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นช่วยให้กลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำขยายพื้นที่ปลูกพืชผสมผสานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำสำหรับการเกษตรบนพื้นที่สูงได้ 2,000 บาทต่อปี และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,000 บาทต่อปี

Organic Circle: นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจรเชิงชุมชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการปลูกข้าวโพดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ทำให้ดินในพื้นที่การเกษตรของชุมชนเมืองจังขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการปลูกพืชผัก การจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืช นวัตกรรม Organic Circle จึงเข้ามาช่วยเหลือชุมชนด้วยการบูรณาการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรใน 3 รูปแบบ ด้วยกัน

 

โดยแบ่งออกเป็น เทคโนโลยีหัวเชื้อจุลินทรีย์ในกระบวนการฟื้นฟูดินในพื้นที่การเกษตร เทคโนโลยีเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นเพื่อการควบคุมโรคพืช (biological control) และเทคโนโลยีการเลี้ยงแกะอินทรีย์ ส่งผลให้ชุมชนขยายพื้นที่ปลูกผักสลัดอินทรีย์และพืชสวนครัวปลอดสารเคมีเฉลี่ย 15 ไร่ และลดปริมาณการใช้สารเคมีในพื้นที่ได้กว่า 25,000 บาทต่อปี นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ และเป็นการส่งเสริมอาชีพในทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดม + การแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากเซรามิก จากมหาวิทยาลัยนเรศวร

ในพื้นที่ชุมชนเมืองจัง นอกจากการปลูกข้าวโพด ยังมีการปลูกผลไม้อีกหลายชนิดตามฤดูกาล เช่น มะม่วง กล้วย ลำไย ลิ้นจี่ แต่ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะเกษตรกรต้องเจอกับสถานการณ์สินค้าล้นตลาด ทำให้ผลผลิตเกิดการเน่าเสียหรือขายไม่ได้ราคา จึงต้องหาวิธีการแก้ปัญหานี้เช่นกัน จึงได้มีนวัตกรรมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดม + การแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากเซรามิก เข้ามาช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีวิสาหกิจชุมชนแม่ญิงจากชุมชนเมืองจังเป็นผู้ได้รับนวัตกรรมนี้ไปปรับใช้กับชุมชน 

 

ปัจจุบัน เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อบแห้งทั้ง 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ แป้งจากกล้วยตาก ข้าวเกรียบมะละกอ ข้าวเกรียบสาหร่ายไก และข้าวเกรียบฟักทอง ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน จากที่เคยต้องทิ้งผลผลิตหรือขายไม่ได้ราคา