สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ระดับความพึงพอใจ : ตัวชี้วัดคุณภาพบริการทางการแพทย์กับสุขภาพอนามัย

บทความ 7 เมษายน 2565 2,081

ระดับความพึงพอใจ : ตัวชี้วัดคุณภาพบริการทางการแพทย์กับสุขภาพอนามัย


จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Silver societies) เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้น ประดิษฐ์ ยารักษาโรค วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ แพลตฟอร์มช่วยการวินิจฉัย และแพลตฟอร์มที่ช่วยการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งหวังให้บริการทางการแพทย์และสุขอนามัยมีคุณภาพที่ดี และสามารถกระจายโอกาสการเข้าถึงในทุกระดับ แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นขณะที่เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกกำลังซบเซา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้หน่วยงานเกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์และสุขอนามัยทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างแรงผลักดันให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนวัตกร เร่งพัฒนาการให้บริการและระบบสุขภาพอนามัยที่ยั่งยืนในหลากหลายโครงการ โดยใน 3 ปีที่ผ่านมาได้งบประมาณจัดสรรเกี่ยวกับการแพทย์ ระบบสาธารณสุข และสุขภาพอนามัยมากกว่า 430,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย และมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จำเป็นอย่างยิ่ง

การแพทย์กับสุขภาพอนามัยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยสอดคล้องกับวิถีขีวิตของคนในสังคม ซึ่งสิ่งที่ใช้วัดความสำเร็จที่ได้รับความนิยม คือ ระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการ เน้นรูปแบบการให้บริการที่ยึดลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ซึ่งแต่ละประเทศจะนำผลลัพธ์ระดับความพึงพอใจนี้มาเป็นข้อพิจารณาในการจัดทำแผนนโยบายและแผนปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง เทคนิคการรักษา การให้บริการ โครงสร้างพื้นฐาน สถานที่ ความสะดวกสบาย ไปจนถึงเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างความคาดหวังและประสบการณ์ความประทับใจ แนวทางการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัยด้วย "ระดับความพึงพอใจ" จะสามารถระบุจุดแข็ง จุดอ่อนของการบริการสุขภาพตามความคาดหวังของผู้ป่วย และจะใช้เป็นข้อมูลจัดการบริการ และกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องได้

Harvey Picker ผู้บุกเบิกการดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และสถาบันของเขากลายเป็นสถานพยาบาลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ของผู้ใช้ต่อระบบการรักษาพยาบาลและใช้ปรับปรุงการให้บริการในสหภาพยุโรป (EU) ผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและพัฒนาบริการด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมนี้นำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของระบบสุขภาพสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

   1) ผู้ให้บริการด้านสุขภาพประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ฯลฯ กลุ่มนี้จะเรียกร้องผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย
   2) ผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพมืออาชีพ และนักวิจัยพยายามทำให้ระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพ และ
   3) ผู้ป่วยที่ได้รับผลประโยชน์จากการเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่มีบทบาทน้อยในการกำหนดนโยบายและงบประมาณ

การใช้นโยบายสุขภาพที่ดีมีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรปัจจุบันและสภาพความเป็นไปในอนาคต โดยสถานะสุขภาพนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือว่าจำเป็นสำหรับการเติบโต เพราะช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างอัตราการเกิดและการตายและอัตราการเกิดโรคต่ำ อีกมุมหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวในเฉพาะเมืองใหญ่อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อระบบสุขภาพของประเทศ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงซึ่งประเทศไทยก็ประสบปัญหานี้ จะเห็นได้ว่าหลายโครงการจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงสตาร์ทอัพน้องใหม่ในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพก็พัฒนาจากปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น “ไดเอทซ์” เทเลเมดิซีนเชื่อมหมอ-คนไข้เมื่ออยู่ไกล “อูก้า” แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ Queq” ระบบบริหารจัดการคิวในสถานพยาบาล Pharma safe” แอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยา HealthTAG” เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น

ถึงแม้ระบบการแพทย์กับสุขภาพอนามัยของคนไทยจะพร้อมสำหรับการให้บริการและสามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพตัวเองใน 4 องค์ประกอบ ได้แก่
   1) สุขภาพกายควรหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์
   2) สุขภาพจิต 
   3) สุขภาพสังคม สามารถพัฒนาได้โดยหมั่นฝึกทำข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ให้สม่ำเสมอ และที่สำคัญควรเรียนรู้มารยาทในการเข้าสังคม และ
   4) สุขภาพจิตวิญญาณซึ่งก็คือคุณธรรมที่มีในตัวตน

จะเห็นได้ว่าการรักษาสุขภาพอนามัยที่มีคุณภาพ นอกจากเรื่องระบบการให้บริการที่ดีแล้ว ยังต้องเริ่มจากการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือลดความเสี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้อีกด้วย ดังนั้น "การแพทย์กับสุขภาพอนามัย" จึงเปรียบเสมือนวิถีแห่งชีวิต และเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับฐานเศรษฐกิจและสังคมที่จะนำไปสู่ความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้


ข้อมูลอ้างอิง:


บทความโดย
สุทธิรักษ์ ดวงบุรงค์
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)