สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
พลิกโฉมโรงเรียนไทย ด้วยนวัตกรรมการศึกษา Disrupt Thai Schools with Educational Innovation
ถึงเวลาแล้วที่วงการการศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่แม้จะมีวัคซีนออกมาหลากหลายยี่ห้อ แต่เชื้อไวรัสก็พัฒนาตัวเองตลอดเวลาส่งผลให้เกิดการระบาดออกมาเป็นระลอก ๆ ทำให้สถาบันการศึกษาทุกระดับไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบปกติได้ เนื่องจากกังวลและเป็นห่วงความปลอดภัยของนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบกระบวนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Google Classroom, Cisco Webex Meeting, Zoom Meeting, Microsoft Teams, Learn Anywhere, Facebook เป็นต้น ทำให้ธุรกิจการศึกษาเกิดการแข่งขันและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างหนึ่งของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลจากประเทศออสเตรีย นั่นคือ “GoStudent” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการขยายขนาดการเติบโตเทคโนโลยีด้านการศึกษา หรือ Edtech โดยนำนักเรียนทุกวัยมาทดสอบร่วมกับครูที่ถูกคัดเลือกตามความสามารถและความเชี่ยวชาญและทำการเรียนการสอนออนไลน์แบบวิดีโอใน “ห้องเรียนเสมือนจริงแบบตัวต่อตัว” ซึ่งการเรียนการสอนดิจิทัลรูปแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้ GoStudent ได้รับสถานะเป็นยูนิคอร์นด้วยการลงทุน Series C มูลค่า 205 ล้านยูโร นำโดย DST Global ร่วมกับนักลงทุนรายใหม่ ได้แก่ SoftBank Vision Fund 2, Tencent, Dragoneer และนักลงทุนรายเดิม ได้แก่ Left Lane Capital และ DN Capital
GoStudent มีการเติบโตประมาณร้อยละ 15 ต่อเดือน โดยสามารถทำยอดการจองมากกว่า 400,000 รอบเรียนต่อเดือน ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2564 ตั้งเป้าให้บริการในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเพิ่มทีมงานเป็นสองเท่า (มากกว่า 1,000 คน) และผู้สอน 10,000 คน นอกจากนี้ Nenad Marovac ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของ DN Capital กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2020 “GoStudent เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดที่เราเคยให้การสนับสนุน ด้านรายได้บริษัทเติบโตขึ้น 800% และด้านมูลค่าการลงทุนกว่า 70 เท่า เรามั่นใจว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและเชื่อมั่นว่า GoStudent สามารถเป็นหนึ่งในโรงเรียนดิจิทัลชั้นนำของโลกได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นธรรมในราคาที่เหมาะสม”
ย้อนกลับมาดูวงการการศึกษาของประเทศไทยในยุควิกฤติโควิค-19 ที่ก็ต้องมีการปรับตัวเร่งสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ด้านเทคโนโลยีการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการเรียนการสอนซึ่งก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่านวัตกรรมในต่างประเทศ
สำหรับตัวอย่างแรก ได้แก่ “Hand in Hand for ID Kids: แอปพลิเคชันคำศัพท์ 2 ภาษา สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา” พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นแอปพลิชันรวบรวมคำศัพท์ในหมวดต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษามาลายู มีการนำร่องใช้จริงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และได้ทำการทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีเด็กบกพร่องทางสติปัญญามากถึง 700 คน พบว่า เด็กมีพัฒนาการทักษะด้านสติปัญญาดีขึ้น และสามารถเรียนรู้จากรูปภาพพร้อมเสียงที่เป็นภาษาไทยและภาษามลายู
“KruLab: แพลตฟอร์มการพัฒนาครูออนไลน์” โดยบริษัท อาชีฟ โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด และ Thrive Venture Builder เป็นแพลตฟอร์มเพื่อจัดการเรียนรู้และแนะแนวการศึกษาแห่งอนาคต โดยรวบรวมเอาหลักสูตรที่มีความเหมาะสมกับการสอนของครูในยุคปัจจุบันไว้บนเว็บบราวเซอร์ เช่น หลักสูตรครูแนะแนว หลักสูตรทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และหลักสูตรการปรับเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงแนวทางการออกแบบห้องเรียนหรือบทเรียนให้สร้างสรรค์และแปลกใหม่ ขณะนี้ เริ่มนำร่องที่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์
“SAMT: แพลตฟอร์มสอนดนตรี” โดย บริษัท เดอะกู้ดเชฟเพิร์ด จำกัด เป็นแฟลตฟอร์มออนไลน์กระจายความรู้ในวิชาดนตรีให้เด็กที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลที่มีศักยภาพแต่ยังขาดกำลังทรัพย์ ซึ่งจะแบ่งที่นั่งสำหรับเด็กนักเรียนในต่างจังหวัดประมาณ 2 ที่นั่ง/1 ห้องเรียน และสามารถสอบถามอาจารย์ได้ทันทีในระหว่างเรียน ซึ่งระยะแรกจะสอนรายวิชาดนตรีให้แก่นักเรียนในพื้นที่ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
“TrainKru: แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการอบรมและพัฒนาครู” โดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เพื่อการเรียนรู้ของครูในศตวรรษที่ 21 เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพครู ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะ กระบวนการจัดการเรียนการสอน รวมถึงระบบการวัดผล ซึ่งรูปแบบการเรียนมีให้เลือกหลายหมวดวิชา เลือกเรียนได้ทั้งออนไลน์ เวิร์กช็อป และแบบผสมสื่อออนไลน์ ถือเป็นหลักสูตรอบรมครูทางออนไลน์ที่มีผู้เรียนมากที่สุด ปัจจุบันมีครูเข้ารับการอบรมกว่า 40,000 คน และระบบ “Online Blended Learning Solution” มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 200 โรงเรียน ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ
โรงเรียนดิจิทัล (Digital School) ถือได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญในการปฏิวัติวงการการศึกษาทั่วโลก โดยการเชื่อมโยงนักเรียน นิสิต และนักศึกษาทุกคนกับครู-อาจารย์ ในอุดมคติของพวกเขา เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน เนื้อหาการเรียนรู้และกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับช่วงวัยและความต้องการส่วนบุคคล เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างความโดดเด่นในความสามารถของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาแต่ละคน นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับวงการการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา:
โดย ดร.อำพล อาภาธนากร (อู๋)
ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)