สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

โมเดลนวัตกรรมแดนมังกร จุดเปลี่ยนสมดุลอำนาจโลก

บทความ 8 เมษายน 2564 3,260

โมเดลนวัตกรรมแดนมังกร
จุดเปลี่ยนสมดุลอำนาจโลก


“การที่ประเทศตะวันตกพยายามที่จะชะลอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศจีน กลับกลายเป็นตัวเร่งให้ประเทศจีนพัฒนาด้านเทคโนโลยีแซงหน้าประเทศเหล่านั้นได้เร็วขึ้น” วิลเลียม แบรตตัน (William Bratton) อดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดทุนของ HSBC เอเชีย-แปซิฟิก ได้เสนอความคิดเห็นดังกล่าวไว้    

การแบน Huawei (ภาษาจีนอ่านว่า หวา-เหวย) ที่เกิดจากคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ (Executive Order) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒  นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและแนวทางการกำหนดนโยบายด้านนวัตกรรมของบริษัทในประเทศจีน ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาเคยอ้างว่าอุปกรณ์สื่อสารจากจีนต้องสงสัยว่ามีปัญหาด้านความปลอดภัย และอาจมีความเกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูลระหว่างประเทศ (ภายหลังได้ออกประกาศรายชื่อบริษัทที่เรียกว่า Entry List ออกมา ซึ่งรายชื่อนั้นรวมบริษัทในเครือหัวเว่ยหลายบริษัท) จึงทำการสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทำการร่วมค้ากับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว

บริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์หรือบริษัทคู่ค้ากับหัวเว่ยในธุรกิจต่างๆ เช่น ควอลคอมม์ (ผลิตชิปเซ็ตมือถือ) และ กูเกิ้ล (โปรแกรมและระบบปฏิบัติการที่มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ) ถูกจำกัดสิทธิในการทำการค้ากับหัวเว่ย ซึ่งทำให้คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในขณะนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยได้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากที่มีการออกคำสั่ง หัวเว่ยได้ออกมาแก้ปัญหานี้ด้วยการประกาศใช้งานระบบปฏิบัติการมือถือของตัวเอง “HarmonyOS” และใช้ชิปเซ็ตมือถือที่พัฒนาโดยบริษัท มีเดียเทก ของไต้หวัน เพื่อประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าหัวเว่ยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานของประเทศตะวันตกอย่างเดียวเสมอไป อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหัวเว่ยได้ทุ่มเทงบประมาณและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตของตนเองในระดับนั้นได้ในระยะเวลาอันสั้น 

ในอดีตประเทศตะวันตกได้เคยใช้นโยบายต่างๆ  เช่น การชะลอการถ่ายทอดเทคโนโลยี การห้ามไม่ให้ประเทศจีนเข้ามาควบรวมกิจการหรือซื้อกิจการบริษัทในประเทศตะวันตก รวมถึงการปิดกั้นหรือจำกัดการค้าสำหรับสินค้าหรือบริการที่มาจากประเทศจีน เพื่อหวังที่จะชะลอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศจีน แต่ก็ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะตลาดภายในประเทศจีนมีขนาดใหญ่มาก ด้วยจำนวนเม็ดเงินลงทุนหรือทรัพยากรที่เท่ากัน บริษัทในประเทศจีนจึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากกว่าประเทศตะวันตก เนื่องจากมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดการวิจัยและพัฒนากับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มากกว่า แต่ในทางกลับกันชาติตะวันตกนั่นเองที่เสียโอกาสทางการค้าเนื่องจากไม่สามารถเข้าไปตีตลาดจีนได้ หรือเมื่อได้เข้าไปก็สายเกินไปแล้ว

นอกจากนี้ นโยบายจำกัดความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับประเทศจีนจากประเทศตะวันตกที่ไม่อนุญาตให้ประเทศจีนเข้าร่วมกับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ นับเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้ประเทศจีนทำความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับทวิภาคีกับประเทศรัสเซียเพื่อสร้างฐานนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Moon Base) และเข้าร่วมการแข่งขันทางอวกาศกับผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบันอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ถึงแม้ประเทศจีนจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตกในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ก็สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพันธมิตรที่อยู่ใกล้ตัวอย่างประเทศรัสเซีย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ให้ทัดเทียม หรือดีกว่าประเทศตะวันตก จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศตะวันตกนั้นแทบจะไม่สามารถคาดเดาถึงขีดความสามารถที่แท้จริงของจีนได้ 

สำหรับประเด็นหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ คือ การที่ประเทศไทยต้องเลือกแนวทางการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ว่าจะให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศใด ระหว่างมาตรฐานประเทศสหรัฐฯ ยุโรป หรือประเทศจีน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือ โครงการสร้างเครือข่าย 5G ในสหราชอาณาจักร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายทางการต่างประเทศและการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมของจีนทั้งแซดทีอี และหัวเว่ยถูกแบนและจำกัดสิทธิเข้าร่วมในการพัฒนาโครงสร้าง 5G ในสหราชอาณาจักร   

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้จากคู่ค้า หรือประเทศที่เราซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศจีนสามารถก้าวมาสู่ผู้นำทางนวัตกรรมของโลก เพราะในอดีตประเทศจีนใช้นโยบายทางการค้าที่กำหนดให้คู่ค้าต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตมาให้ด้วย เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของบริษัทจีนในเวทีโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้ามคืน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องถามตัวเองว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในแบบที่ประเทศจีนได้รับจากชาติตะวันตกมากน้อยเพียงใด

#InnovativeChina #HowToStayInnovative #HowChinaSurvivedTheBan #Innovation

โดย นายกฤษภาส กาญจนเมฆานันต์
        นักกลยุทธ์นวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม
        สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)