สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

"วันผังเมืองโลก" กับแนวคิดเมืองที่พึ่งพาตนเอง

7 พฤศจิกายน 2565 2,247

"วันผังเมืองโลก" กับแนวคิดเมืองที่พึ่งพาตนเอง

ผังเมือง...สำคัญอย่างไร

หลายคนอาจเคยได้ยินหรือรู้จักอาชีพหนึ่งที่มีบทบาทต่อเมืองอย่างมาก นั่นคือ “นักผังเมือง” เพราะนอกจากจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ชุมชน เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เมืองมีความน่าอยู่ และช่วยให้ทุกคนสามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 8 พฤศจิกายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันผังเมืองโลก (World Town Planning Day)” เพื่อรำลึกถึงการวางแผนเมืองที่สำคัญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2492 โดยศาสตราจารย์คาร์ลอส มารีอา เดลล่า เปาเลร่า ผู้ล่วงลับ แห่งมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ที่พยายามสนับสนุนให้การวางแผนเมืองและชุมชนต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเมือง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำหนดวันผังเมืองโลกก็เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทของนักวางผัง พร้อมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ในการวางแผนเมืองและชุมชนที่มีคุณภาพ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผัง และผู้ที่มีบทบาทด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนจะมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในมิติต่างๆ ของการพัฒนาเมือง สอดคล้องไปกับแนวคิด New Urban Agenda, Sustainable Development Goal 11 และ Sustainable Cities and Communities ซึ่งจวบจนปัจจุบันกว่า 30 ประเทศทั่วโลกได้จัดงานเฉลิมฉลองในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานประชุม กิจกรรมระดมทุน กิจกรรมการกุศล การจัดประกวดการวางแผนชุมชนเมือง หรืองานเทศกาลตามท้องถนน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแนวคิดการวางแผนเมืองที่ดี น่าอยู่และเปิดกว้างสำหรับทุกคน

 

แนวคิดย่านนวัตกรรม...สู่ชุมชนเมือง

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เมืองและชุมชนไปจนถึงการผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เมืองและชุมชนสามารถเพิ่มพูนศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสมต่อการประกอบธุรกิจและการดําเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาย่านนวัตกรรม หรือแม้แต่การพัฒนาเมืองนวัตกรรม ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่นั้นสามารถกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสู่พื้นที่ได้ ทั้งยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมที่มีศักยภาพ กระตุ้นให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการในพื้นที่ เช่น พื้นที่ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวคิดหลักสำหรับตอบรับต่อกับพัฒนาพื้นที่ที่สามารถเติบโตด้วยตนเองจากกลไกการขับเคลื่อนนวัตกรรมในพื้นที่ ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมเกษตรและแม่โจ้เป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมในด้านเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวมุ่งเน้นในเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการผลักดันนวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการเกษตร พร้อมทั้งยังผลักดันให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มคนในท้องถิ่น เพื่อให้มีศักยภาพในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลิตสินค้านวัตกรรมเข้าสู่ตลาดคุณภาพ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนลดการย้ายถิ่นฐานโดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่ อันเป็นผลจากการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย และการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม (Up Skill) ให้กับคนในพื้นที่ เพื่อให้ย่านนวัตกรรมเติบโตและมั่นคงได้อย่างยั่งยืน

 

กิจกรรมของไทยในวันผังเมืองโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองได้ดำเนินการจัดงานวันผังเมืองโลกมาอย่างต่อเนื่อง นำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปีนี้ ประเทศไทยได้ร่วมจัดงานวันผังเมืองโลกอีกครั้งในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้ธีม “Decoding the Future of Self Sufficient Cities: ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง” โดยจะดึงผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเปิดมุมมองสู่การพัฒนาแนวคิดการวางผังเมืองให้ตอบรับกับสถานการณ์เมืองและการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามรับฟังได้ที่ www.worldtownplanningday.com 

 

บทความโดย
เธียรวนันต์ จอมสืบ (เตย)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม