สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอดรหัส “BCG Model” แนวคิดขับเคลื่อนไทย สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

บทความ 1 เมษายน 2565 12,064

ถอดรหัส “BCG Model” แนวคิดขับเคลื่อนไทย สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

 

“BCG” คืออะไร ? คำๆ นี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร

 

เมื่อความเป็นอยู่ของประชาชนถูกยกให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายรายได้ และกระจายโอกาสไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG Model 

 

โดยการนำทัพจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations) โดยเป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 

 

แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า ภายใต้ 3 ตัวอักษรนี้มีความหมายว่าอะไร และรัฐบาลมีกลไกอะไรบ้างในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในแต่ละด้าน และมากไปกว่านั้น NIA เองมีส่วนช่วยผลักดันธุรกิจนวัตกรรมในด้าน BCG มากน้อยแค่ไหน มาถอดรหัสกันทีละตัวเลย! 

B = Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จึงไม่แปลกที่  “Bio Economy” หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ถึงกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งระบบเศรษฐกิจนี้คือการนำความรู้และนวัตกรรมทางด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่นๆ มาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เช่น ไบโอดีเซล พลาสติกชีวภาพ สร้างประโยชน์ให้กับหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ และพลังงาน 


 นอกจากนี้เศรษฐกิจชีวภาพยังช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอย่างปัญหาประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จนนำมาสู่การขาดแคลนอาหาร พลังงาน และการสร้างมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจชีวภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทางเลือก ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากโรงงาน ฯลฯ

 

ในแง่การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้กับกลุ่มเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ที่เมืองนวัตกรรมชีวภาพในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi BIOPOLIS) โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเคมีในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Biobased products) ในระดับขยายขนาด รวมถึงสนับสนุนการสร้างบัณฑิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมาก ภายใต้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งกว่า 22 สถาบันทั่วประเทศไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพอย่างสมบูรณ์

C = Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน

จากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เคยเน้นผลิต ใช้งาน และนำไปทิ้ง สู่ “Circular Economy” หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือระบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นจากการขยายตัวของประชากรโลกและปัญหาการจัดการขยะ รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรนั้นๆ เมื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ 

 

ประเทศไทยจึงเดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบคลุมทั้งภาคการผลิตและผู้บริโภค ใน 4 ด้าน ดังนี้
 
 1. ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Production)
- สร้างแนวคิดใช้น้อย ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) เช่น การนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ
- ใช้หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะ เครื่องใช้ไฟฟ้า
 
 2. ด้านการใช้งานและบริโภค (Consumption)
- ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการแสดงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Footprint
- สนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)
- มีการรับประกันสินค้าและบริการ เช่น สินค้าฉลากเขียว คือฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อนํามาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทําหน้าที่อย่างเดียวกัน
 
 3. ด้านการจัดการขยะหรือของเสีย (Waste Management)
- ส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านการจัดการขยะ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในกลุ่มนี้ได้
- ลดการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ (Landfill) และหลีกเลี่ยงการจัดการขยะที่มีการใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ เน้นใช้หลักการ 5Rs ได้แก่ Reduce Reuse Repair Refurbish Recycle  

 

 4. ด้านการใช้วัตถุดิบรอบสอง (Secondary Raw Materials)
- พัฒนากฎหมาย ข้อบังคับด้านการจัดการขยะ โดยกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในมาตรา 19 ให้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่- ส่งเสริมการพัฒนาวัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
- จัดทำมาตรฐานการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลและควบคุมการปนเปื้อนของสินค้ารีไซเคิล โดยกรมควบคุมมลพิษ 

G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว

สร้างโลกใบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนด้วย “Green Economy” หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือระบบเศรษฐกิจที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม เน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า กระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง และเกิดจากความร่วมมือของคนในสังคมภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งแนวคิดทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (Economic Growth) 


 เป็นอีกความตั้งใจที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปให้ได้ เพราะเป็นวิธีคิดทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และอีกมากมาย ซึ่งต้องอาศัยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ หรืออ IoT ต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
 
 จะเห็นได้ว่าทั้งสามกลุ่มเศรษฐกิจนี้ แม้จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ เน้นสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดย NIA ร่วมกับ BOI มองเห็นถึงเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการทำให้สำเร็จ จึงได้มีแผนการพัฒนาสตาร์ทอัพในกลุ่ม BCG ในอีกระดับ ตั้งแต่การเพิ่มโอกาสให้กลุ่มสตาร์ทอัพนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ เช่น 

 

การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น Smart Visa นอกจากนี้ยังพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายบริษัทเอกชนชั้นนำ หน่วยงานรัฐ และนักลงทุนจากทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับ NIA ก็มีเป้าหมายที่จะสร้าง BCG Deep Tech Startup ให้ได้จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ระยะแนวคิดต้นแบบ ไปจนถึงระยะที่พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ