สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Veena Somareddy : ผู้เปลี่ยนโลก “กายภาพบำบัด” ด้วยเทคโนโลยี VR

บทความ 23 มีนาคม 2563 7,144

Veena Somareddy ผู้เปลี่ยนโลก “กายภาพบำบัด” ด้วยเทคโนโลยี VR


หากพูดถึงโลก Virtual Reality หรือ VR หลายคนอาจนึกถึงแค่ภาพยนตร์ หรือเกมสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสกับโลกอีกใบที่ทั้งน่าสนุกและตื่นเต้น แต่กับเกมดีไซเนอร์สาวชาวอินเดียอย่าง Veena Somareddy โลก VR ของเธอหมายถึง โอกาสและชีวิตใหม่ ของผู้ป่วยด้านการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกากว่า 2.5 ล้านคน

ผู้เปลี่ยนโลก “กายภาพบำบัด” ด้วยเทคโนโลยี VR

Veena คือผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งคลั่งไคล้การเล่นเกมเป็นอย่างมาก เธอตัดสินใจบินลัดฟ้ามาเรียนต่อปริญญาโทในสาขาการออกแบบเกม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความฝันที่ว่า “สักวันหนึ่งเธออยากจะมีธุรกิจเกมเป็นของตัวเองให้ได้” และในปี 2017 ถนนสายสตาร์ทอัพของเธอก็ได้เริ่มต้นขึ้น 


ด้วยการชักชวนของ Bruce Conti ผู้ก่อตั้ง Neurological Recovery Center (NRC) ศูนย์กายภาพบำบัดในรัฐเท็กซัส ที่สนใจในงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี VR ในรูปแบบต่างๆ ของ Veena และหวังว่าโลก VR จะช่วยให้ลูกชายที่ป่วยเป็นอัมพาตจากการผ่าตัดสมองของเขา กลับมาเดินได้เป็นปกติอีกครั้ง 


ครั้งแรกที่ Veena เดินทางมาถึงศูนย์ NRC นั้น เธอได้เรียนรู้ว่าในวงจรการฟื้นฟูร่างกายด้วย “กายภาพบำบัด” นั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษานานหลายปี ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายไปจนถึงท้อใจ จนหลายคนตัดสินใจล้มเลิกเข้ารับการรักษาและต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต 


เห็นดังนั้น Veena จึงใช้ความรู้ความสามารถที่เธอมีพัฒนาต้นแบบ “เกม VR” ตัวแรกขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากกลับมาทำกายภาพบำบัดอีกครั้ง แต่เมื่อนำมาให้ผู้ป่วยทดลองใช้จริง มันกลับมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการกายภาพบำบัดแบบปกติ เพราะขาดการวิเคราะห์ทางสรีรวิทยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย

 

แน่นอนว่าความล้มเหลวในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เธอล้มเลิกความคิดที่อยากจะช่วยเหลือผู้ป่วยแต่อย่างใด แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้เธอต้องการที่จะสานต่อไอเดียการพัฒนาเกม VR อย่างจริงจัง จนตัดสินใจนำโครงการไปเสนอกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านการแพทย์ในรัฐเท็กซัส และจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Neuro Rehab VR ขึ้นในที่สุด


หลังจากใช้เวลาร่วม 2 ปี เธอก็สามารถพัฒนา “เกม VR” ที่ใช้กับผู้ป่วยได้จริงสำเร็จ โดยเมื่อผู้ป่วยสวมอุปกรณ์และเข้าไปอยู่ในเกมแล้ว พวกเขาจะได้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปร้านคาเฟ่สวยๆ ทำอาหารเย็นในครัว หรือแม้แต่ออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวและฝึกฝนกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยให้พวกบรรเทาความเครียด ลดการโฟกัสในความบกพร่องของร่างกาย และรู้สึกดีกับตัวเองได้มากขึ้น


นอกจากนี้ “เกม VR” ดังกล่าวยังมีระบบการเก็บ Big Data และใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ความคืบหน้าการรักษาในทุกครั้งที่ผู้ป่วยเล่นเกม เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักกายภาพบำบัดเจ้าของเคส ได้นำไปออกแบบคอร์สกายภาพบำบัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนอีกด้วย

 

ปัจจุบันเกมของเธอถูกนำมาใช้ช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดสมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แล้วที่ Neurological Recovery Center และศูนย์กายภาพบำบัดกว่า 25 แห่ง 7 มลรัฐ ในสหรัฐฯ


อย่างไรก็ดี เส้นทางภารกิจของ Veena ยังคงไม่สิ้นสุด เพราะเธอเชื่อว่านวัตกรรมที่เธอและทีมสร้างขึ้น ยังสามารถต่อยอดไปใช้ได้อีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดสุขภาพจิต การเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวในเด็ก หรือการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น


นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวนวัตกรรมที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง  ซึ่ง NIA เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หรือเพศอะไรก็ตาม ทุกคนล้วนมีความสามารถที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ ให้กับสังคมได้… ไม่แน่ว่าสักวันคุณจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยให้ที่ดียิ่งขึ้น


สำหรับใครที่มีไอเดียนวัตกรรมดีๆ และอยากต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการ Open Innovation สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://open.nia.or.th และสามารถติดตามข่าวสารทุนนวัตกรรมอื่นๆ ได้ที่ www.nia.or.th


ที่มา:

https://www.neurorehabvr.com/ 

https://www.forbes.com/sites/cognitiveworld/2020/01/30/this-woman-is-changing-the-therapy-industry-with-vr-and-ai/#4b5ec65a4296

http://www.fortworthbusiness.com/news/fort-worth-start-up-has-potential-vr-therapy-success/article_9b32f958-83da-11e9-b71d-db70b2512619.html