สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รวม 7 Keywords ที่สตาร์ทอัพต้องรู้! เปิดประตูสู่โลกธุรกิจไร้พรมแดน

24 เมษายน 2566 2,540

รวม 7 Keywords ที่สตาร์ทอัพต้องรู้! เปิดประตูสู่โลกธุรกิจไร้พรมแดน

เปิดประตูสู่การทำธุรกิจบนโลกไร้พรมแดน แสวงหาตลาดใหม่ จากนักลงทุนต่างประเทศที่กำลังสนใจสตาร์ทอัพไทยไฟแรง

หากเราเป็นผู้ประกอบธุรกิจ การเจาะลงไปที่ตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ยืดหยุ่นเท่าไรนัก เพราะนั่นไม่ต่างกับการปิดโอกาสของตัวเอง เนื่องจากที่สุดแล้วตลาดภายในประเทศก็อาจถึงขีดจำกัด การเตรียมหาช่องทางใหม่ๆ อย่างการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ หรือการขยายตลาดข้ามเส้นแบ่งระหว่างประเทศจึงดูเหมือนจะเป็นอีกเป้าหมายสำคัญ

ซึ่งเราเห็นได้จากสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Grab ที่ถึงแม้ตอนเริ่มต้นธุรกิจจะเริ่มในประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการขยายบริการไปในประเทศอื่นๆ ทำให้สามารถดึงดูดเงินจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นสตาร์ทอัพเดคาคอร์น (Decacorn) หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐรายแรกในอาเซียน

เมื่อเป้าหมายพร้อม ย่อมถึงเวลาเตรียมองค์ความรู้ให้พร้อมไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษา นโยบาย รวมถึงข้อกฎหมาย และเพื่อให้ก้าวแรกของทุกคนเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเกินไป เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในก้าวใหม่แห่งความฝัน ด้วยการมาแชร์ Keyword เบื้องต้นที่เหล่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพต้องรู้! เพื่อนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจได้อย่างเฉียบคมไปอีกขั้น

อย่าลืมว่าเก่งแค่ไหนก็ยังต้องมีที่ปรึกษา เพราะแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีไอเดียเจ๋งๆ มากมายมหาศาล แต่ส่วนใหญ่ก็ล้วนขาดประสบการณ์ อันเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน และแม้ว่าทั้งคู่จะมีบทบาทคล้ายกันในจุดที่คอยให้คำปรึกษาแต่ก็มีบางจุดที่แตกต่าง ซึ่งสตาร์ทอัพมือใหม่ควรรู้ไว้ก่อนเพื่อจะเข้าไปขอคำแนะนำได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเอง

หากเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น กลุ่มผู้สนับสนุนที่ควรเข้าหาก็จะเป็น “Incubators” ซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โดยจะมีหน้าที่ในการให้องค์ความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน มีการแนะแนวทางในการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ ช่วยต่อยอดพัฒนาไอเดียจนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมักจะมีผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมจนก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาได้

แต่หากเราเป็นสตาร์ทอัพที่เติบโตมาสักระยะหนึ่ง จนถึงขั้นที่มีสินค้าหรือบริการเป็นของตัวเองแล้วต้องการสร้างความสำเร็จให้เกิดผลขึ้นไปอีกระดับ เราจำเป็นต้องเข้าหา “Accelerator” หรือกลุ่มผู้สนับสนุนที่จะช่วยพัฒนาหลักสูตรเร่งรัด ซึ่งจะให้คำแนะนำในการหาตลาด สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านการปรับปรุงแผนงานที่มีอยู่ ซึ่งเป้าหมายนี้จะต่อยอดจากสิ่งเดิมผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญภายใต้กรอบระยะเวลาอันสั้น

เมื่อธุรกิจได้เริ่มต้นขึ้น สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การหาเงินลงทุน”

สำหรับสตาร์ทอัพแล้วจะต้องจดจำวัน “Demo Day” ไว้ให้ดี เพราะในวันนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้แจ้งเกิด โชว์แนวคิด พร้อมกับผลงานของตัวเองสู่สายตาของนักลงทุน ภาคเอกชน และคนอื่นๆ ที่สนใจ รวมทั้งยังได้ใช้พื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการออกไปให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดย Demo Day นั้นจะมีทั้งการนำเสนอข้อมูล พบปะพูดคุยแบบส่วนตัวกับนักลงทุนที่มารวมตัวกันเพื่อมองหาโมเดลธุรกิจที่สนใจจะให้การสนับสนุนนั่นเอง

ต่อมาอีก Keyword สำคัญที่จะนำไปสร้างบทสนทนากับคนในระบบนิเวศสตาร์ทอัพก็คือ “Traction” หรือผลตอบรับจากลูกค้า ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันความสำเร็จของธุรกิจในขั้นต้น โดย Traction นี้จะเป็นไปได้ทั้งรายได้ที่เกิดขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการที่กลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเห็นแนวโน้มและความคุ้มค่าในการสนับสนุน แน่นอนว่า Traction จะได้มาเมื่อสินค้าหรือบริการของเรามีการทดลองออกสู่ตลาด ก่อนจะตามมาด้วยข้อแนะนำเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาจากลูกค้า ซึ่งบางครั้งก็เป็นที่มาในการระดมหาเงินทุนเพื่อแก้ไขด้วยเช่นกัน

และในงาน Demo Day สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็คือ “Pitch Deck” ซึ่งจะเป็น Presentation ที่ใช้เพื่อสื่อสารบอกเล่า แนะนำธุรกิจของเราแบบสั้นๆ ต่อนักลงทุน ลูกค้า หรือคู่ค้าที่น่าสนใจเพื่อชวนเข้ามาส่งเสริมความแข็งแกร่งของทีม โดยสำหรับการทำ Pitch Deck นี้ เราสามารถนำเสนอขายได้อย่างอิสระ แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างความเข้าใจต่อธุรกิจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น คู่แข่ง จุดแข็ง ปัญหาที่ต้องการแก้ไข วิธีการแก้ไข ขนาดของตลาด Traction Business Model และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ Vision ขององค์กร ที่จะต้องสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจตัวตนของธุรกิจอย่างชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน

เมื่อการนำเสนอสิ้นสุดลงด้วยเสียงตอบรับที่ดี ย่อมตามมาด้วยการพูดคุยเจรจา และการเซ็นสัญญาที่สตาร์ทอัพรอคอย

แม้การขายที่น่าสนใจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาเงินได้ระดับหนึ่ง แต่อีกสิ่งสำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังก็คือ “Deep-dive meeting” หรือการพูดคุยแบบเจาะลึก โดยนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจให้การสนับสนุนจะติดต่อเข้ามา เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าไปทำความรู้จักกันในระดับที่ลงลึก ซึ่งในการพูดคุยครั้งนี้จะเป็นเหมือนการผ่านประตูคัดสรรอีกบาน ที่เราจะต้องเตรียมตัวตอบคำถามยากๆ เพื่อให้นักลงทุนเห็นศักยภาพภายในบริษัทของเราอย่างละเอียดยิ่งขึ้น

และในที่สุด! เมื่อการนำเสนอแผนสำเร็จ นักลงทุนตกลงให้การสนับสนุน ก็ต้องมาถึงขั้นตอนอย่างการลงนามใน “Term sheet” หรือเงื่อนไขสัญญาการลงทุนระหว่างสตาร์ทอัพและนักลงทุน ซึ่งจะเป็นเอกสารหลักฐานที่มีรายละเอียดต่างๆ เพื่อกำหนดการทำงานและเป้าหมายในการลงทุน โดยที่ภายใน Term sheet นี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น มูลค่าของบริษัท สิทธิของนักลงทุน ดอกเบี้ย เงื่อนไขที่จะจ่ายเงินปันผล เงื่อนไขในการไถ่ถอนเงินลงทุนคืน และข้อพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าสำหรับคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพยังมีองค์ความรู้อีกมากมายให้ศึกษาต่อ นอกจากทั้งหมดที่ว่ามาก็ยังมีอีกหลายคำที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเพื่อนๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่รายการ “BUZZWORD” เจาะลึกคำศัพท์นวัตกรรม ลงลึกถึงราก ครบทุกมิติด้านนวัตกรรม ได้ที่ https://youtube.com/playlist?list=PLdAkYlWPVFak1uAgdALxgY5ezfb95z7aj ในรายการนี้ก็จะมีคำศัพท์อีกหลากหลายคำที่จะช่วยในการสะสมองค์ความรู้ ก่อร่างธุรกิจให้เกิดผล จนสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยไปได้อีกมหาศาล

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256205_GlobalTrend.aspx
https://www.it24hrs.com/2017/accelerators-incubators-startup/
https://www.thumbsup.in.th/accelerators-vs-incubators
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000074809
https://www.disruptignite.com/blog/startup-pitch-deck
https://startitup.in.th/startup-jargon-you-should-know/
https://www.bangkokbankinnohub.com/th/term-sheets-and-due-diligence-for-startup-fundraising-th/
https://www.youtube.com/watch?v=9NPXu4IMxoU