สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Startup Pulse จับชีพจร “สตาร์ทอัพไทย” และการเดินเกมในยามวิกฤต
เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายกว่า 18 เดือน ที่เราต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย แต่ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน สภาพเศรษฐกิจ วิถีการทำธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยเฉพาะกับ “สตาร์ทอัพ” ที่แค่ในเวลาปกติก็ต้องคอยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา หรือแม้แต่การวิ่งหาแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ คำถามก็คือ… แล้วทุกวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้างกับวงการสตาร์ทอัพไทย ?
วันนี้ NIA ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA: Thai Venture Capital Association) กันว่า วิกฤตครั้งนี้กระทบต่อวงการสตาร์ทอัพและการลงทุนอย่างไร และควรจะต้องปรับตัวยังไง ให้ยังยืนหยัดบนสังเวียนธุรกิจต่อไปได้
สถานการณ์สตาร์ทอัพไทย “อยู่” หรือ “ไป” ?
แม้กว่า 90% ของสตาร์ทอัพไทยทุกวันนี้ จะอยู่ในช่วง Pre-seed หรือ Early Stage แต่แทบทั้งหมดทำการบ้านและเข้าใจพื้นฐานการทำธุรกิจมากกว่าสมัยที่สตาร์ทอัพเพิ่งเริ่มเป็นกระแส โดยเฉพาะด้านความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ Passion อยากทำธุรกิจ ซึ่งนับว่ามาถูกทาง
สิ่งที่สตาร์ทอัพควรต้องเพิ่มเติมคือ ต้องเข้าใจว่านักลงทุนต้องการอะไรจากพวกเขา (หรือผู้นำธุรกิจของพวกเขา) ที่มากไปกว่าแค่ “นวัตกรรม” โดยเฉพาะ Business Model ที่ส่วนมากยังแข็งแรงไม่พอจะก้าวขึ้นไปรับเงินลงทุนในปริมาณที่มากขึ้น เป็นปัญหาให้ไม่สามารถสเกลธุรกิจออกไปจากแค่หัวเมืองใหญ่หรือแค่ในประเทศไทยได้
ในแง่ของผลกระทบวิกฤตโรคระบาดที่เข้ามา น่าจะเป็นเหรียญ 2 ด้านสำหรับสตาร์ทอัพ นั่นคือ บางสตาร์ทอัพอาจได้รับผลกระทบหนัก ยากที่จะประคับประคองธุรกิจในระยะยาว เช่น สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว หรือด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่บางสตาร์ทอัพอาจเติบโตสวนกระแส เช่น E-commerce-related technology, Telemedicine, LogisticsTech, DeepTech
ปัจจัยสำคัญคือ การปรับ Product และ Business Model ให้สอดรับไปกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เหมาะกับธุรกิจที่ทำ และการบริหารแผนการเงินที่ดี เพราะสตาร์ทอัพไทยไม่ได้ล้มตายเพราะขาดไอเดียการทำธุรกิจ แต่เกิดจากการบริหารการเงินที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่รายได้ทุกบริษัทแทบจะติดลบ
Movement การลงทุนไปในทิศทางไหน ?
ผลกระทบวิกฤตกลับไม่ได้ส่งผลต่อเม็ดเงินในระบบสักเท่าไร และมีแนวโน้มว่าเงินในระบบจะเพิ่มขึ้นสวนทาง แต่ในแง่ของจำนวนการลงทุนลดลง เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มชะลอหรือถอนดีลกับสตาร์ทอัพรายเล็ก และหันไปลงทุนกับสตาร์ทอัพ Series A ขึ้นไป ที่น่าจะดำเนินธุรกิจให้มีกำไรต่อไปได้ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการลงทุนต่อครั้งสูงมากขึ้นอีกด้วย
ทิศทางของนักลงทุนในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น โดยกลุ่ม Corporate Venture Capital (CVC) ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในประเทศไทย จะให้น้ำหนักไปกับธีมเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจของบริษัทแม่เป็นหลัก โอกาสการเข้าถึงยากหากสตาร์ทอัพไม่ได้จับงานนวัตกรรมที่ CVC ตามหา
ด้านกลุ่ม Venture Capital มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ปัจจุบันมีถึงกว่า 30 ที่ แต่เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทำให้ช่วงนี้ VC ลดความสนใจในสตาร์ทอัพ Early Stage ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้สตาร์ทอัพรายเล็กอาจต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงเริ่มต้นมากขึ้น
ขณะที่กลุ่ม Angel Investor ที่เป็นเหมือนทั้ง Mentor และผู้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น กลับยังมีปริมาณค่อนข้างน้อย และส่วนมากยังทำงานกันแบบ Individual อาจยังแตกต่างกับ Angel Community ในต่างประเทศที่มีการรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพอย่างชัดเจน
โควิดทำพิษ เดินหน้าธุรกิจยังไงต่อดี ?
ทุกสตาร์ทอัพได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือใครออกหมัด ปรับตัวได้ไวกว่า ซึ่งหากยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหน คุณศรัณย์ได้ให้คำแนะนำไว้ 4 Steps
#Revisit
ก่อนจะเดินหน้าต่อ ให้หันกลับมาทบทวนแผนธุรกิจดูอีกครั้งว่า ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยีที่กำลังทำหรือวางแผนจะทำออกสู่ตลาด ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคไหม มีความต้องการมากพอจริงหรือเปล่า และมีแนวโน้มว่าคู่แข่งจะคิดลงมือแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณแตกต่าง
#LeanCost
นอกจากการบริหารกระแสเงินสดให้ดี ควรมีเงินสดสำรองอย่างน้อย 6 – 12 เดือนแล้ว ควรต้องรัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุน
ลดรายจ่ายที่เป็นภาระให้กับบริษัท โดยอาจพักการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่จะไม่ถูกใช้งาน หรือมีผู้ใช้งานน้อยทันที และหากจำเป็นจริงๆ การลดวันทำงาน เงินเดือน สวัสดิการ หรือต้องยอมโบกมือลาพนักงาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา
#Mentorship
ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ผู้นำธุรกิจจะเชี่ยวชาญได้ทั้งหมด การออกปากขอความช่วยเหลือคนในทีมที่เชี่ยวชาญกว่า หรือแม้แต่มองหาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ข้างนอก อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
#Pivot
ถ้ารู้ตัวว่าไปต่อไม่ไหว การ Shift ตัวเองไปทำสิ่งใหม่ที่ไม่อยู่ในธุรกิจเดิมเลยอาจต่อลมหายใจได้ดีกว่า โดยพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญและทักษะของทีมและเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของตลาดดังที่กล่าวมาข้างต้น เช่น สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวที่มีทีม Developer หลังบ้านมากฝีมือ อาจปรับไปให้บริการด้าน Solution สำหรับ E-commerce แทนได้
กับดัก “สตาร์ทอัพไทย” ในมุมมองนักลงทุนมีอะไรบ้าง ?
แม้จะเข้าใจพื้นฐานธุรกิจ แต่สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่สามารถตอบคำถามนักลงทุนได้มากพอ โดยประเด็นหลักๆ ที่คุณศรัณย์พบเจอบ่อยๆ ได้แก่
#PainPoint
บ่อยครั้งที่สตาร์ทอัพวิเคราะห์ความต้องการผู้บริโภคมาไม่ละเอียดพอ แคบเกินไป หรือคิดไปเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงหลายครั้งมักเจอกับกำแพง Latent Pain Point ซึ่งคือ Pain Point ที่มีอยู่จริง แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา และไม่ได้ต้องการ Solution จริง
#MarketSize
การโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงนับว่าเป็นเรื่องถูกสำหรับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น แต่การทำธุรกิจในพื้นที่จำกัดอาจไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง ซึ่งทำให้ไม่สามารถสเกลธุรกิจไปทั่วประเทศหรือไปไกลถึงต่างประเทศได้
#Team
การสเกลธุรกิจ มาพร้อมกับความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลที่เพิ่มขึ้น สตาร์ทอัพส่วนมากเองยังติดปัญหาในเรื่องนี้ จนอาจทำให้คนทำงานรับภาระงานที่มากเกิน ต้องทำงานที่ล้นขอบความถนัด และสุดท้ายต้องโบกมือลากันไป หรือมีโครงสร้างการทำงานที่รวมศูนย์อยู่ที่ CEO จนเกิดปัญหาคอขวด
ผู้นำแบบไหนที่นักลงทุนอยากร่วมงานด้วย
ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร คาแรคเตอร์ของผู้นำคือกระจกสะท้อนองค์กร นอกจากลุคภายนอกที่ต้องดูน่าเชื่อถือแล้ว ควรจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหนอีกบ้าง
1. Motivate & Curious
มี Passion กระตือรือร้น และมีความช่างสงสัย คือพื้นฐานที่ผลักดันให้ผู้นำสตาร์ทอัพมีทัศนคติในการทำงานที่กว้างไกล สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ไว ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
2. Domain Experienced
มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่จริงๆ เทรนด์ตลาดเป็นยังไง คู่แข่งกำลังทำอะไรอยู่ต้องรู้ เพื่อเป็นข้อมูลว่าควรเพิ่มเติมอะไรให้กับตัวธุรกิจได้บ้าง
3. Managerial
มีศาสตร์และศิลป์การบริหาร ทั้งการบริหารงานและบริหารคน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงขยับขยายธุรกิจ
4. Saleable
มีจิตวิทยาและชั้นเชิงในการสื่อสาร อ่านความต้องการของคนที่กำลังสื่อสารและเลือกใช้วิธีได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ธุรกิจ นักลงทุน หรือแม้แต่กับทีมงานด้วยกันเอง
5. Analytic
มีทักษะคิดวิเคราะห์ สามารถนำ Data ที่บริษัทมี ไปวางแผนใช้ประโยชน์ต่อได้ รวมถึงคิดวางแผนอย่างเป็นระบบ ประเมินความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ เพื่อหาแผนรับมือไว้ล่วงหน้า