สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอดรหัส “ศูนย์ซ่อมสร้างสุข” โลกแห่งการให้ของ “ผู้พิการ” จังหวัดสงขลา

บทความ 5 มีนาคม 2563 3,377

ถอดรหัส “ศูนย์ซ่อมสร้างสุข” โลกแห่งการให้ของ “ผู้พิการ” จังหวัดสงขลา


เวลา “รถเสีย” ขึ้นมาแต่ละครั้งหลายคนคงจะเซ็งกันน่าดู เพราะกว่าจะส่งศูนย์ซ่อมเสร็จก็กินเวลาไปเป็นเดือน แต่ระหว่างที่รอนั้นเราก็ยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยการใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ แต่ในทางกลับกัน หากรถที่เสียนั้นคือ “วีลแชร์” ซึ่งเป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 ของผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว… ลองจินตนาการดูว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบากแค่ไหน ? ในระหว่างที่ต้องรออะไหล่และการซ่อมแซมรถเข็นเป็นแรมเดือน


ความเป็นอยู่ของผู้พิการอาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามไป แต่ “คุณเล - ฐิตารี เชื้อพราหมณ์” หัวหน้างานบริการสาธารณสุข กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต อบจ.สงขลา ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้พิการมานานหลายปี กลับมองเห็นปัญหาเชิงลึกอย่างเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้พิการในช่วงรอยต่อของการซ่อมแซมวีลแชร์ และมีความตั้งใจว่าอยากจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการตรงจุดนี้ จนเกิดเป็นไอเดีย “ศูนย์ซ่อมสร้างสุข” นวัตกรรมเพื่อสังคมที่จะช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับผู้พิการทั่วทั้งจังหวัดสงขลา


“ศูนย์ซ่อมสร้างสุข” ทำงานร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สงขลา เพื่อให้บริการซ่อมแซมวีลแชร์และไม้เท้าที่ชำรุด แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเมื่อทีมอาสาสมัครเข้าไปเยี่ยมผู้พิการตามบ้านและพบว่ามีอุปกรณ์ที่เสียหาย ก็จะส่งมาซ่อมที่ศูนย์ ก่อนจะส่งคืนสู่ผู้พิการให้พวกเขาได้นำไปใช้ได้เหมือนใหม่ ซึ่งแม้ว่าแต่ละเดือนจะมีจำนวนอุปกรณ์รอรับการซ่อมกว่า 30 ชิ้น แต่กระบวนการซ่อมแซมและส่งคืน จะใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น เพื่อให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้พิการน้อยที่สุด 


อีกสิ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือ “ทีมช่าง” ที่ให้บริการซ่อมอุปกรณ์ภายในศูนย์เองก็เป็นกลุ่มผู้พิการใน จ.สงขลา ที่ผ่านการเทรนนิ่งด้านการซ่อมอุปกรณ์เหล่านี้โดยเฉพาะ โดยพวกเขาจะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการไม่ต่างกับคนทำงานบริษัทเลย ซึ่งการทำงานที่ศูนย์ซ่อมสร้างสุขนี้  ไม่เพียงช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีอาชีพและรายได้ไปใช้เลี้ยงปากท้อง แต่ยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจว่าพวกเขามีโอกาสได้ช่วยเหลือเพื่อนผู้พิการด้วยกันให้สามารถใช้ชีวิตอย่างราบรื่นและมีความสุขได้


นอกจากบริการซ่อมแซมอุปกรณ์แล้ว ทางศูนย์ยังร่วมมือกับภาคการศึกษา ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เสริมให้กับผู้พิการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ผู้พิการให้สะดวกสบายมากขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการใช้ชีวิตประจำวันแม้ว่าจะมีความบกพร่องทางกาย เช่น วีลแชร์พลังงานไฟฟ้า เตียงปรับระดับได้ด้วยรีโมต ช่วยป้องกับปัญหาแผลกดทับให้ผู้พิการติดเตียง ล้อมอเตอร์ซึ่งสามารถประกอบเข้ากับวีลแชร์ทั่วไป ให้กลายเป็นรถสามล้อ ซึ่งผู้พิการสามารถใช้ขี่ไปทำงานนอกบ้านได้แบบไม่มีปัญหา


แม้จะเพิ่งดำเนินงานมาได้ไม่ถึง 1 ปี แต่ศูนย์ซ่อมสร้างสุขให้บริการดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์ให้พี่น้องผู้พิการแล้วประมาณ 350 ครัวเรือน และช่วยพวกเขาประหยัดรายจ่ายไปได้รวมกว่าครึ่งล้าน! นับว่าเป็นต้นแบบนวัตกรรมเชิงไอเดียของหน่วยงานภาครัฐ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองได้อย่างเท่าเทียมและเห็นเป็นรูปธรรม


สำหรับใครที่มีไอเดียและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทย สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนได้กับ NIA ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://social.nia.or.th