สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เครื่องมือการพัฒนาเมือง ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์”

10 กรกฎาคม 2567 1,133

“เครื่องมือการพัฒนาเมือง ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์”

เครื่องมือการพัฒนาเมือง

ในขณะที่เนื้อหาข้อมูลในโลกออนไลน์ถาโถมใส่เราวันละหลายร้อยรูปแบบ มีการรีวิวเชิญชวนเราออกไปเที่ยววันละหลายร้อยที่ และหากคุณเคยหารีวิวสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับจังหวัดเชียงใหม่หรือในพื้นที่ภาคเหนือ บางทีคุณอาจจะเคยเห็นคอนเทนต์ (Content) ของกลุ่ม iChiangmai ผ่านหูผ่านตามาบ้าง แพลตฟอร์มที่นำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่น อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ การันตีด้วยผู้ติดตามทาง Facebook กว่า 75,000 คน โดยผู้อยู่เบื้องหลังความความสำเร็จของแพลตฟอร์มนี้ คือ คุณเพชร - นายภณวาท โกชุม หนุ่มหล่อไฟแรง ผู้อายุเพียง 27 ปีเท่านั้น และครั้งนี้คุณเพชรและ iChiangmai ได้โคจรมาพบกับ NIA ผ่านโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ภายใต้ผลงานนวัตกรรมที่ชื่อว่า “ถอดรหัสจินตนาการพัฒนาคลองแม่ข่า”

CNX

พื้นที่ “คลองแม่ข่า” โดยเฉพาะบริเวณสะพานระแกง ซึ่งห้อมล้อมด้วยชุมชนหัวฝาย และชุมชนกำแพงงาม ภายใต้การดูแลและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ทำให้พื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และชุมชนเก่าแก่นี้กลายเป็นพื้นที่เช็คอินใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงภายใต้ความตั้งใจดีของผู้ปกครองเมืองด้วยแนวคิด “เปลี่ยนหลังบ้าน ให้กลายเป็นหน้าบ้าน” เพื่อเปิดพื้นที่ชุมชนริมคลอง ทำให้เกิดการสร้างรายได้ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วยคนในชุมชนเองนั้น ก่อนจะมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จนี้ กระบวนการแบ่งปันแนวคิดการพัฒนา ร่วมกับการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียได้เกิดขึ้นในจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน และหนึ่งในเครื่องมือการรับฟังเสียงประชาชนนั้น คือ ผลงานนวัตกรรมในวันนี้ ซึ่งเราจะมาย้อนรอย เพื่อถอดบทเรียนทั้งแนวคิด อุปสรรค ความสำเร็จ และการต่อยอดจากโครงการร่วมกัน

 

“เมืองมีการสื่อสารอยู่ตลอด งานของเราคือการแปรคลื่นความต้องการของเมือง ให้ออกมาในรูปแบบเนื้อหาที่คนพร้อมรับฟัง”

คุณภณวาท โกชุม

คุณภณวาท โกชุม ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเชียงใหม่ จำกัด
จากผลงานนวัตกรรม “ถอดรหัสจินตนาการพัฒนาคลองแม่ข่า”

 

"iChiangmai" เริ่มต้นจากที่ผมกลับมาจากประเทศอังกฤษหลังเรียนจบ กลับมาเปิดบริษัทด้าน ครีเอทีฟเอเจนซี่ (Creative Agency) ก่อนช่วงโควิด ต่อมา เมื่อเจอโควิดเราถูกบังคับให้ต้องปรับตัว จากการที่คนจัดงานนอกสถานที่น้อยลง จึงตัดสินใจมาทำการตลาดให้กับเมืองแทน โดนเริ่มจากทำเพจ Facebook ที่ตั้งใจนำเสนอเนื้อหาของเมืองเชียงใหม่ ในมุมมองที่แตกต่าง ผ่านการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบการทำ Story Telling ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น ด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เรานิยามตัวเองว่าเป็น City Branding โดยพวกเราพยายามสร้างแบรนด์ให้กับเมือง สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเล่าเรื่องท้องถิ่น ในรูปแบบ Inside data ที่ปกติคนท้องถิ่นรู้กันเอง และคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่พวกเรา Twist มุมมองการเล่าใหม่ให้น่าสนใจ หรือถ้ามองกว้าง ๆ เราคือ Marketing Platform หรืออะไรก็ได้ แล้วแต่คนนิยาม... โดยรวมแล้วพวกเราเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสาร และโชคดีที่เรามีทีมงานที่มองเห็นวิสัยทัศน์เดียวกัน และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เราตั้งใจออกมาได้ และขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ตอบรับอย่างดี” คุณเพชรเล่าเรื่องที่มาของบริษัทอย่างถ่อมตัว

สำหรับที่มาของผลงานนวัตกรรมนั้น คุณเพชร เล่าว่า “ในระหว่างเรียน ผมได้รู้จักแนวคิด เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ หรือ Social-Solidarity Economy; SSE* ในประเทศอังกฤษที่เข้มแข็งมาก ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเมืองที่เราอยู่ ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่เป็นกลุ่มที่ชาวเมืองรวมพลังกัน แล้วเกิดเสียงที่เข้มแข็งมาก คนในชุมชนมีสิทธิที่จะตัดสินใจเรื่องในชุมชนร่วมกัน ทุกเสียงมีความสำคัญ ผู้มีอำนาจในการพัฒนาเมืองก็รับฟังเสียง และเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องความเป็นอยู่ ความโปร่งใสจึงตามมา แนวคิดนี้ จึงเหมือนฝังในใจเรามาตลอดว่า การที่เสียงของคนในชุมชนเข้มแข็งนั้น ส่งผลให้ทิศทางการพัฒนาเมืองเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

 

 

 

คุณเพชร เล่าต่อว่า "การทำ Content เกี่ยวกับท้องถิ่น ทำให้พวกเรามีโอกาสได้พูดคุยกับคนชุมชนบ่อยมากขึ้น เราจึงมองเห็นรูปแบบซ้ำ ๆ ของปัญหา คือ ชุมชนมองมุมหนึ่ง ผู้พัฒนาจากภายนอกมองมุมหนึ่ง นักวิชาการส่งเสริมมองอีกมุมหนึ่ง เจ้าของพื้นที่ หรือนักท่องเที่ยว ก็มองต่างมุมกันอีก พวกเราก็เลยคิดว่า มันคือการไม่คุยกันหรือเปล่า จึงเกิดคำถามขึ้นว่า หรือเสียงความต้องการในการพัฒนาเมืองมันไปไม่ถึงกันหรือเปล่า มันจึงเหมือนการผลักดันกันไปคนละทิศละทาง"

เมื่อเห็นประกาศของหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่ประกาศเชิญชวนให้ส่งผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า จึงเหมือนเป็นจังหวะเหมาะพอดี ที่เราจะพัฒนาแนวคิดในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยยึดหลักแนวคิด SSE ด้วยการที่ใช้จุดแข็งของเรา คือการมีเครือข่ายและเครื่องมือการทำ content ลองเข้าไปแก้ปัญหาเมือง

พวกเราเริ่มจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาบริเวณคลองแม่ข่า โดยตั้งใจที่จะเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน คือ คนเชียงใหม่ คนต่างถิ่น และคนในชุมชน ซึ่งสองกลุ่มแรกเราจะเก็บข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม chiangmaialivemaekha.com และกิจกรรมชวนเดินเที่ยวเก็บจุดเช็คอินบริเวณคลองแม่ข่า และเก็บสแตมป์ผ่านโปสการ์ด (Postcard) ในขณะที่กลุ่มคนในชุมชน ละแวกคลองแม่ข่า เราจะเก็บข้อมูลผ่านกลุ่มเครือข่ายและพันธมิตรของเรา โดยใช้วิธีง่าย ๆ ที่สนุก โดยให้เขาแปะสติ๊กเกอร์ลงไปบนแผนที่ ด้วยคำถามว่า...มาร่วมกันแชร์ แม่ข่าที่คุณอยากเห็น ซึ่งแบ่งเป็น 5 มิติ คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านที่อยู่อาศัย ด้านอัตลักษณ์ และด้านเศรษฐกิจ และนำมานับคำนวนรวมความต้องการ แสดงผลในรูปแบบกราฟฟิก”


ผลลัพธ์ที่เราได้พบค่อนข้างแตกต่าง แต่ไม่แปลกใจ แต่ละกลุ่มมีความต้องการในมิติการพัฒนาเมืองมากน้อยต่างกัน ผลลัพธ์คือ กลุ่มคนเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยากเห็นการพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ในขณะที่ กลุ่มนักท่องเที่ยว มองประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และอัตลักษณ์ชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับกลุ่มคนในชุมชนนั้น เขาอยากเห็นเรื่องที่อยู่อาศัย และการท่องเที่ยวมากที่สุด ทำให้พวกเราเชื่อว่า Data is a New Gold ข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล เสียงของทุนคนได้ถูกถ่ายทอดออกไปให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้อย่างถูกวิธีและไม่สร้างความขัดแย้ง ... และเราหวังว่าวิธีการพัฒนาเมืองหลังจากนี้ จะมีแนวทางการพัฒนาที่พบข้อต่อที่สามารถเชื่อมความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งทางทีมได้ทำกิจกรรมถอดรหัสและแจ้งผลลัพธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบ และพวกเราเชื่อว่าการตัดสินใจปรับปรุงหรือพัฒนาพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเมือง ผู้เกี่ยวข้องควรมีสิทธิในการออกเสียง และร่วมตัดสินใจ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิงถึงความต้องการ และแนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคต” คุณเพชรเน้นย้ำและเปิดสถิติหลังบ้านให้เราดู ผลลัพธ์นี้เกิดจากการแสดงความคิดเห็นของคำตอบกว่าสองพันคน และยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

“ขอขอบคุณผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่เปิดพื้นที่ให้พวกเราเข้าไปพัฒนานวัตกรรมในส่วนนี้ รวมถึง NIA มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ปรึกษาผลงานนวัตกรรม ทางทีม Mae Kha City Lab, Imagine MaeKha, บ.ใจบ้านสตูดิโอ, หัวหน้าชุมชน ป้า ๆ ลุง ๆ ผู้อาศัยบริเวณคลองแม่ข่า รวมถึงเครือข่ายคนเป๋งเมืองเชียงใหม่ และเครือข่ายอื่น ๆ รวมถึงผู้ใหญ่ทุก ๆ ท่าน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการด้วย เพราะทุกฝ่ายได้สนับสนุนและให้ความร่วมมือกับพวกเราอย่างเต็มที่ นวัตกรรมนี้จึงเกิดขึ้นได้”

ก่อนลา คุณเพชรได้ย้อนความทรงจำเล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาที่ปิดโครงการว่า “จากงานที่แม่ข่า เราได้เรียนรู้เยอะมาก เนื่องจากหน้างานมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก อุปสรรคด้านการสื่อสารยังเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ... ผมอยากถือโอกาสนี้ขอขอบคุณและขอโทษทีมงานของผมด้วย ที่ช่วงเวลานั้นอาจจะเหนื่อยเยอะหน่อยจากการอ่อนประสบการณ์ของผม แต่จากวันนั้น ผมเรียนรู้และเติบโตขึ้น ประสบการณ์ในวันนั้นทำให้เราสามารถต่อยอดไปยังลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะงานรับออกแบบประสบการณ์ พวกเราได้ขยายพื้นที่ไปยังไนท์บาซาร์ และอีกหลายชุมชน ไปจนถึงการรับฟังเสียงตอบรับของลูกค้าหรือผู้ใช้งานของบริษัทเอกชน จนปัจจุบัน พวกเราพัฒนาเป็น Holding Group ที่มีบริษัทย่อยดูแลการทำงานทั้งด้านการออกแบบสื่อ และการขายประสบการณ์รูปแบบใหม่ ๆ พวกเรามีเครือข่ายเพิ่มจากในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งพวกเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีการทำสื่อจากเขาเยอะมาก ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีการเปิดตัวโปรเจ็คใหม่ของพวกเราให้ ทุกๆ ท่านทราบอีกครั้ง ฝากทุกท่านติดตาม iChiangmai ได้ทุกช่องทางครับ”

 

สุดท้ายนี้ เมื่อเราเข้าไปดูเพจ Facebook ของ iChiangmai แล้ว ก็ต้องยกให้เป็นเพจที่มีเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ และน่าสนใจจริง ๆ หากจะหาที่เที่ยวในเชียงใหม่ครั้งหน้า คงไม่พลาดที่จะแวะเวียนมาดู content เพื่อประกอบการตัดสินใจแน่นอน

* “เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์” (Social-Solidarity Economy; SSE) หมายถึง แนวคิดที่กำหนดให้ บรรษัทหรือองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะสหกรณ์ ภาคส่วนที่ได้ประโยชน์ร่วมกันในสังคม สมาคม มูลนิธิ และวิสาหกิจเพื่อสังคม ผลิตสินค้า หรือเสนอการให้บริการที่คำนึงถึงเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ - นิยามโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO)

 

ช่องทางติดตาม: iChiangmai

Website: https://ichiangmai.co.th/ 

Facebook: https://www.facebook.com/iChiangmai.co 

YouTube: https://www.youtube.com/@ichiangmai_ic 

Email: [email protected] 

 

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก คุณภณวาท โกชุม ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเชียงใหม่ จำกัด

ขอขอบคุณผลงานนวัตกรรมจาก โครงการที่ปรึกษาดำเนินงานหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปีงบประมาณ 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)