สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

กระทบหรือปลอดภัย? “วิกฤต Silicon Valley Bank” สร้างแรงสะเทือนต่อวงการ สตาร์ทอัพสหรัฐฯ และไทยมากน้อยแค่ไหน

12 เมษายน 2566 2,548

กระทบหรือปลอดภัย? “วิกฤต Silicon Valley Bank” สร้างแรงสะเทือนต่อวงการ สตาร์ทอัพสหรัฐฯ และไทยมากน้อยแค่ไหน

เรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้งโลก! เมื่อแบงค์ใหญ่จากศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของโลกประกาศล้มละลาย ไปในเดือนมีนาคม 2566

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนจากทุกวงการ โดยเฉพาะแวดวงการเงินและเทคโนโลยี ต่างเข้าไปสืบหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะ Silicon Valley Bank หรือ SVB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญมากๆ ซึ่งมีการร่วมทุนและลงทุนให้กับสตาร์ทอัพจำนวนมาก บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Shopify Pinterest Fitbit ฯลฯ ก็แจ้งเกิดมาจากการที่ธนาคารนี้ช่วยสูบฉีดชีวิตให้เติบโตขึ้นมา

แล้วสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง SVB ล้มได้อย่างไร สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า สาเหตุหลักนั้นมาจากภาวะ “Bank Run” หรือคนแห่กันถอนเงินออกจนทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ โดยมีผลพวงมาจากหลายองค์ประกอบ ย้อนไปตั้งแต่ช่วงวิกฤตโรคระบาด ที่เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้เงินสะพัดเข้ามาในธนาคารเป็นจำนวนมาก ฟังดูแล้วก็น่าจะทำให้ธนาคารเติบโตขึ้น แต่จริงๆ แล้วมันกลับทำให้ธนาคารต้องมีภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกราย

เมื่อมีต้นทุนมากขึ้น ธนาคารจึงต้องหาทางออกด้วยการนำเงินไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ ซึ่งโดยปกติเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อสร้างเงินให้งอกเงยขึ้น แต่คลื่นปัญหาลูกใหญ่ก็โถมเข้าหา SVB อีกครั้ง เพราะโลกเกิดความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จนทำให้ FED หรือธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ผลตอบแทนที่ SVB เคยได้ก็กลับแย่ลง จนทำให้ต้องขายสินทรัพย์นี้ออกไปแบบขาดทุน ประกอบกับบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากเงินเริ่มขาดมือ เลยต้องเอาเงินก้อนใหญ่จากธนาคารไปหมุนเวียนในบริษัท เมื่อปัญหาถาโถมเข้ามาขนาดนี้ จึงไม่แปลกเลยที่สภาพคล่องของ SVB จะไม่ได้คล่องเหมือนเคย

แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ เพราะมีสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์กับธนาคารนี้ต้องออกมาประกาศความเสี่ยงหรือประกาศล้มละลายตามกันมาเลยทีเดียว อย่าง Signature Bank และ ธนาคาร 'เครดิตสวิส' ก็เสี่ยงล้มตาม SVB ไปด้วย

เหตุการณ์นี้ถ้าดูเผินๆ อาจจะเหมือนว่าสร้างผลกระทบกับแค่แวดวงการเงินเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วกลับสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่คิด เพราะระบบนิเวศสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนทั่วโลกต้องร่วมประเมินกันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมหรือไม่ และระบบนิเวศสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่วันที่ SVB ประกาศล้มละลาย มี Stakeholder ที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศการหาแนวทางแก้ไขในทันที เช่น ประธาน Y Combinator (กลุ่ม VC ที่สำคัญของ Silicon Valley) เรียกร้องให้สภาคองเกรสช่วยรักษา ‘นวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจอเมริกา’ หลัง SVB ล้ม เพราะ SVB ถือเป็นสถาบันการเงินหลัก สตาร์ทอัพทั้งรายใหญ่รายเล็กกว่า 50% เข้าไปใช้บริการหรือกู้เงินเพื่อประกอบธุรกิจ จึงเป็นเหมือนกับจุดรวมพลทางด้านเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงตกสู่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง อาทิ สตาร์ทอัพกว่า 30% ที่มีเงินเกี่ยวข้องกับธนาคารนี้ มี Cash Flow ที่ไม่เพียงพอ ถึงขนาดที่ว่า ไม่มีเงินไปจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในอีก 30 วันข้างหน้ากันเลย จนมีข่าวให้เห็นไม่เว้นในแต่ละวันว่าหลายๆ ที่ต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FED จะมีมาตรการต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร

แล้วถ้าเรามองกลับมา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไหม เบื้องต้นแบงค์ชาติออกมาประกาศแล้วว่า อาจยังไม่ค่อยมีผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยในกลุ่ม FinTech และสตาร์ทอัพทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในวิกฤตครั้งนี้

ประกอบกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยมีความแตกต่างกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพสหรัฐฯ เพราะพึ่งพาการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นหลัก ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแบบเหตุการณ์นี้จึงลดน้อยลงมา รวมถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยยังมีเงินทุนจากหลากหลายแหล่ง ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงล้มละลายได้มากขึ้น เพราะแค่หน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเงินทุนกลุ่มนี้ มีมากถึง 9 หน่วยงานเลยทีเดียว ซึ่ง NIA ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เชื่อมต่อเครือข่ายทางการลงทุนนี้มาโดยตลอด

แต่ก็ใช่ว่าประเทศไทยจะรอดปลอดภัยไปได้ตลอด เพราะอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนและเป็นบทเรียนให้กับเราได้ว่า ทุกความเคลื่อนไหวในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นลดดอกเบี้ยของแบงค์ชาติ การแบ่งสัดส่วนการลงทุนของสถาบันการเงินนั้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ทุกคนจึงควรติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.npr.org/2023/03/11/1162805718/silicon-valley-bank-failure-startups
https://thematter.co/thinkers/what-happened-to-silicon-valley-bank/199023
https://workpointtoday.com/silicon-valley-bank-collapse-explainer/
https://www.voathai.com/a/european-us-stocks-fall-on-global-bank-worries/7006789.html
https://www.ycombinator.com/blog/urgent-sign-the-petition-now-thousands-of-startups-and-hundreds-of-thousands-of-startup-jobs-are-at-risk
https://www.nytimes.com/2023/03/17/technology/svb-tech-start-ups.html
https://www.livemint.com/companies/news/svb-crisis-to-impact-over-10-000-startups-trigger-1-lakh-layoffs-y-combinator-11678557688839.html
https://www.dailynews.co.th/news/2092583/
https://www.springnews.co.th/program/digital-life/836265
https://drive.google.com/file/d/1NHlYff1Yijobwt_wR7HdqOQ27lgVliFX/view?usp=share_link