สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Smart Grid นวัตกรรมพลังงานเพื่อสังคม

บทความ 22 สิงหาคม 2562 10,089

Smart Grid นวัตกรรมพลังงานเพื่อสังคม


ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ก็คือการมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนมีความต้องการใช้พลังงานสูง แต่แหล่งพลังงานกลับน้อยลง ต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้น จึงต้องมีแนวทางการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน หนึ่งในแนวทางนั้นก็คือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid นั่นเอง

Smart Grid


Smart Grid ตามคำนิยามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหมายถึง โครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า เหตุผลที่ Smart Grid ถูกพัฒนาขึ้นมาก็เพราะการผลิตไฟฟ้าแต่เดิมเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized Power Generation) ผลิตโดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานแบบเดิม เช่น พลังงานฟอสซิล ก่อนจะส่งออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แต่ระบบเดิมนี้มีข้อเสียคือไม่สามารถผลิตให้สอดคล้องกับปัจจัยด้านต่าง ๆ ดังนี้

เมื่อแหล่งเชื้อเพลิงที่อยู่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าเริ่มขาดแคลน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจึงสูงขึ้น เมื่อผลิตไฟฟ้าได้แล้วแต่ชุมชนที่ต้องส่งจ่ายไปให้นั้นอยู่ห่างไกล จึงเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้องบ่อย หากจะผลิตเกินแล้วเก็บไว้ก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการกักเก็บในราคาสูงอีก ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละฤดูกาลและช่วงเวลาก็ไม่เท่ากันจึงทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตมาไม่พอดี

จากปัญหาด้านการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าที่กล่าวมาข้างต้น Smart Grid จึงกลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยรองรับแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดและกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ เข้าเชื่อมต่อกับระบบผลิตไฟฟ้าแบบเดิม หากเกิดสภาวะผิดปกติทางไฟฟ้าก็จะมีกลไกช่วยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยอัติโนมัติ ทำให้โครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ผู้ใช้ไฟฟ้าเองก็เข้ามามีส่วนในโครงข่ายไฟฟ้าได้โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เช่น มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ ตรวจสอบค่าไฟได้ตามเวลาจริง เป็นการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบการทำงานเช่นนี้แล้ว Smart Grid จะช่วยให้เรามีพลังงานใช้อย่างพอเพียง

ประเทศไทยเริ่มมีโครงการนำร่อง Smart Grid ใช้แล้วในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ โครงข่ายอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งสองโครงข่ายนี้มุ่งแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ต้นไม้หนาแน่น ชุมชนกับแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ห่างไกลกัน และวางแผนให้ใช้ศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด อีกโครงการหนึ่งคือโครงข่ายในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่ได้เป็นโครงการนำร่อง Smart Grid เพราะมีความพร้อมทางเศรษฐกิจและมีความต้องการไฟฟ้าสูง ในอนาคตเมืองพัทยายังมีนโยบายพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) หรือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและฉลาดอีกด้วย

แม้ว่าโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะนี้จะจัดการพลังงานได้อย่างประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานเดิม เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้ชุมชนมีพลังงานใช้เพียงพอและสามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตนได้ด้วยเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเพียงใด แต่หากหน่วยงานและบุคลากรที่เข้ามาบริหารจัดการระบบการผลิตและจัดส่งไฟฟ้านี้ไม่สุจริต เอาประโยชน์ของพรรคพวกตนเองมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม หรือไม่สามารถดูแลโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว นวัตกรรมที่ชาญฉลาดอย่าง Smart Grid ก็คงไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

.

แหล่งอ้างอิง

https://www.mmthailand.com/smart-grid-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2/

https://www.smartcitythailand.or.th/

https://www.mmthailand.com/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0-smart-grid/

https://www.scimath.org/article-physics/item/4837-smart-grid