สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA นำสื่อเยี่ยมชม โครงการ “SHE: อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง” ภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม

News 28 สิงหาคม 2563 2,268

NIA นำสื่อเยี่ยมชม โครงการ “SHE: อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง” ภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม


นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA นำสื่อเยี่ยมชม โครงการ “SHE: อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง” ภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมเปิดโมเดลนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวางรากฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ผลักดันโอกาสที่ควรได้รับ พร้อมส่งเสริมการมีรายได้ให้กับกลุ่มคนดังกล่าวได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา NIA ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ การสร้างรายได้และอาชีพใหม่ให้กับชุมชน ผู้ด้อยโอกาส การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต ตลอดจนการผลักดันโอกาสผ่านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเปราะบาง ผ่านโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน โดยทำงานร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาโครงการนวัตกรรมที่สอดรับกับปัญหาของสังคมทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม คน และมือง ตลอดจนปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต แล้วกว่า 100 โครงการ 

โครงการ “SHE: อาชีพเสริมดัดจัดสรีระสำหรับกลุ่มเปราะบาง” เป็นการผสมผสานองค์ความรู้และเทคนิคกายวิภาคศาสตร์ดัดจัดสรีระเทคนิคของการยืดเหยียดแบบ Sport Medicine ร่วมกับการกดจุด Trigger Point เพื่อสั่งให้สมองเปลี่ยนคำสั่งจากกล้ามเนื้อตึงให้เป็นกล้ามเนื้อหย่อน การสลายจุด Trigger Point ในกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับได้สนิทขึ้น เพราะเป็นการปรับสมดุลระบบประสาทอัตโนมัติใหม่ ใช้เวลาเพียง 10 นาที โดยเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับครอบครัวที่เป็นเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่มั่นคงในชุมชนได้ตลอดทั้งปี รวมถึงเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเปราะบางทางสังคม เช่น อดีตผู้ต้องขังหญิง กลุ่มสตรีมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประชากรชายขอบ ได้รับองค์ความรู้และเทคนิคด้านการแพทย์เพื่อนำไปประกอบอาชีพในท้องที่ รวมถึงมีงานที่มั่นคง สามารถต่อยอดเป็นงานบริการหรือประยุกต์เป็นอาชีพเสริม พร้อมกระจายองค์ความรู้ที่ได้รับไปสู่กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเดียวกันได้