สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

S.N.A.P Platform: ด่านตรวจอัจฉริยะสำหรับเทศกาลท่องเที่ยว

11 เมษายน 2568 1,727

S.N.A.P Platform: ด่านตรวจอัจฉริยะสำหรับเทศกาลท่องเที่ยว

S.N.A.P

 

บรรยากาศแห่งความสนุกสนานของเทศกาลสงกรานต์กำลังใกล้เข้ามา บางท่านคงเริ่มวางแผนที่จะท่องเที่ยวในวันหยุดยาว บางท่านวางแผนที่จะกลับบ้านต่างจังหวัด แต่มีบุคลากรในบางอาชีพที่ต้องเตรียมตัวทำงานหนักกว่าช่วงเวลาอื่นของปี หนึ่งในอาชีพเหล่านั้น คือ “ตำรวจท่องเที่ยว” ที่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น เพื่อควบคุมความเรียบร้อย และให้บริการความปลอดภัยแก่ประชาชน บทสัมภาษณ์ในวันนี้มาจาก ผศ.ดร. ภูดินันท์ สิงห์คำฟู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนวัตกรรม “S.N.A.P Platform: ด่านตรวจอัจฉริยะสำหรับเทศกาลท่องเที่ยว”

 

“การพัฒนานวัตกรรมถ้าไม่มีอุปสรรคเลยจะเป็นเรื่องที่แปลกมาก การพัฒนาและปรับปรุงอยู่เสมอ คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง”

ผศ.ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู

ผศ.ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู
ที่ปรึกษาโครงการ “ด่านตรวจอัจฉริยะสำหรับเทศกาลท่องเที่ยว”

เมื่อมีกิจกรรมเทศกาล ณ จุดใดจุดนึง สถานที่นั้นมักมีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัดและยากต่อการควบคุมความเรียบร้อย โดยปัจจุบันตำรวจท่องเที่ยวจะออกไปตั้งด่านเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย และใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อสังเกตุและบันทึกเหตุการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีมาตรการควบคุมนักท่องเที่ยว อีกทั้งเมื่อมีงานเทศกาลต่าง ๆ ตำรวจท่องเที่ยวจำเป็นต้องกระจายกำลังไปอยู่ในทุกจุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน สถานีขนส่ง หรือสถานที่จัดกิจกรรม จึงทำให้กำลังพลในการดูแลนักท่องเที่ยวถูกกระจายออกไป ส่งผลให้กำลังพลในการจัดการไม่เพียงพอเมื่อเกิดเหตุชุลมุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทั้งสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ดังนั้น วันนี้เราจะมารู้จัก “S.N.A.P Platform” ผ่านผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบและสร้างแพลตฟอร์มนี้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตำรวจท่องเที่ยวมากที่สุด นวัตกรรมที่ช่วยให้ประชาชนมีความอุ่นใจ และช่วยการทำงานของตำรวจท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

อาจารย์ภูดินันท์ได้อธิบายนวัตกรรมนี้ให้เราฟังว่า ...“S.N.A.P Platform คือนวัตกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงกล้องวงจรปิด (CCTV) จากต่างรุ่นต่างยี่ห้อให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างกล้อง โดยที่ไม่ต้องซื้อกล้องรุ่นใหม่ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันการทำงานของกล้อง ด้วย AI Software เป็นลักษณะโมดูล ที่เราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เพื่อแสดงผลภาพและข้อมูลสถิติผ่านแพลตฟอร์มกลางที่ออกแบบมา และใช้สำหรับภายในหน่วยงานราชการโดยเฉพาะ เป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อการยกระดับการบริการประชาชนด้านการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมและอุบัติเหตุให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว เราจึงขอรายละเอียดจากอาจารย์เพิ่ม ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายต่อดังนี้ “กล้อง CCTV ปัจจุบัน บางทีเจ้าของเป็นคนละหน่วยงานกัน ดังนั้นการขอดูกล้องแบบเรียลไทม์นั้นจึงต้องใช้เวลา แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินประชาชนมักไปพบตำรวจก่อน ดังนั้นเราจึงขอเชื่อมกล้องจากเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีจำนวนเยอะมาก เชื่อมเข้ากับกล้องของตำรวจท่องเที่ยวเข้ามารวมศูนย์กัน ถึงแม้จะต่างยี่ห้อ แต่เราสามารถเชื่อมข้อมูลได้ ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอัปโหลดรูปภาพ หรือกรอกข้อมูลผู้ต้องสงสัย กล้องที่เราเชื่อมไว้จะดึงภาพขึ้นมา ทำให้เราสามารถคาดคะเนเส้นทางที่ผู้ต้องสงสัยหลบหนีได้ ในส่วนของ AI ที่นำมาใช้งาน หมายถึง การสามารถจับคู่ลักษณะใบหน้าผู้ต้องสงสัย ร่วมกับรูปพรรณสัณฐาน เช่น สีเสื้อ เพศสภาพ ฯลฯ โดยโปรแกรมสามารถตรวจจับใบหน้า ของบุคคลเฝ้าระวัง หรือบุคคลต้องสงสัยได้” อาจารย์เล่าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างชัดเจน

มาถึงจุดนี้บางท่านอาจจะยังนึกไม่ออก เราจึงขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างประโยชน์ของแพลตฟอร์มนี้เพิ่มเติม... “ความเป็นนวัตกรรมของแพลตฟอร์มนี้ คือการมี AI เข้ามาช่วยตรวจจับใบหน้าและรูปลักษณ์ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในกรณีต่าง ๆ ได้ ดังนี้ 1) ติดตามคนหาย 2) ติดตามผู้ต้องสงสัย 3) ตรวจจับคนเข้าพื้นที่หวงห้ามนอกเวลาราชการ 4) ประยุกต์ใช้กับโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือจุดตรวจความปลอดภัยของหมู่บ้าน นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมคือ สามารถช่วยเก็บสถิติคนเข้าออกพื้นที่ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การทำงานกับหน่วยราชการบางท่านอาจจะบอกว่ายาก แต่อาจารย์ภูดินันท์ให้มุมมองกับเราว่า “เป็นปกติที่การนำเสนอสินค้า หรือบริการต่าง ๆ จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ 100 % ในทุกครั้ง แต่เมื่อเรามั่นใจว่าเรามี solution ที่มีประโยชน์ต่อหน่วยงานนั้น ๆ เราก็ควรลองพยายามเข้าไปนำเสนอ เราต้องเตรียมตัวอย่างดี มีข้อมูลพร้อม ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยด้านราคา หรือความเหมาะสมต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่จะได้คำแนะนำดี ๆ มาพัฒนาผลงานต่อ การมีอุปสรรคเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีถือว่าแปลกมาก ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เราคิดและออกแบบมา ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับหน้างานจริง แต่ต้องขอบคุณผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานตำรวจท่องเที่ยวทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ และให้ข้อมูลอย่างดี จนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มได้สำเร็จ”

 

การมีนวัตกรรมแต่นำไปใช้ไม่ได้จริงนั้นไม่มีประโยชน์ ซึ่งสิ่งนั้นไม่ใช่กับ S.N.A.P Platform อย่างแน่นอน อาจารย์ให้ข้อคิดสำคัญกับเราพร้อมเล่าต่อว่า “แรกเริ่มเราเริ่มใช้กับตำรวจท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ใช้งานจริงที่เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ต่อเนื่องมาสองปีแล้ว ส่วนการพัฒนาต่อเนื่องจาก Phase แรก เราได้รับทุนพัฒนาให้สามารถทำโปรแกรมติดเข้าไปกับกล้องที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย แต่ด้วยการสนับสนุนของ สนช. ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีการใช้งานที่ครอบคลุมมากขึ้น ปกติเชื่อมแค่กับ CCTV แต่ตอนนี้โปรแกรมสามารถใช้เชื่อมกับกล้องเคลื่อนที่ได้เกือบทุกประเภท และมีการขยายพื้นที่การนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์จากจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น จังหวัดนครราชสีมา และเมืองพัทยา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแห่ง ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ปัจจุบันโดยรวมแล้วมีเคสที่ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้มากกว่าร้อยคดีแล้ว”

 

อาจารย์ฝากทิ้งท้ายว่า “สำหรับในอนาคต เราหวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะมีการนำไปประยุกต์ใช้กับทั้งหน่วยราชการหรือเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่จะไปนำเสนอ Solution ให้เหมาะสมกับพื้นที่เป้าหมาย โดยสามารถติดต่อมาได้เสมอ”

 

จากนี้ไป เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ หรือเทศกาลไหน ๆ ประชาชนในพื้นที่ก็จะมีแพลตฟอร์มนี้ช่วยดูแลความเรียบร้อย และเป็นเครื่องมือให้ตำรวจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ทุกอย่างถูกใช้ภายใต้หน่วยงานราชการ และอยู่ในการดูแลของตำรวจ ไม่มีการเผยแพร่ หรือเก็บข้อมูลส่วนตัวอย่างแน่นอน NIA ขอสวัสดีวันปีใหม่ไทย ขอให้ทุกท่านท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ และเดินทางโดยสวัสดิภาพ

 

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู ที่ปรึกษาโครงการ “S.N.A.P Platform: ด่านตรวจอัจฉริยะสำหรับเทศกาลท่องเที่ยว” วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: Email: [email protected]

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายสนับสนุนการเงินนวัตกรรมรายพื้นที่
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)