สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

หมดปัญหารอนาน ไปโรงพยาบาลกับแอปพลิเคชัน QueQ

บทความ 9 พฤษภาคม 2562 20,745

หมดปัญหารอนาน ไปโรงพยาบาลกับแอปพลิเคชัน QueQ


ภาพที่เราเห็นจนชินตาเวลาเลือกใช้ระบบสาธารณูปการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการของ ศาล สำนักงานที่ดิน ที่ทำการไปรษณีย์ หรือโรงพยาบาล คือภาพของผู้คนจำนวนมากที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาจับจองพื้นที่สำหรับการรอคิว การจองพื้นที่ของตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนั่ง นอน หรือแม้กระทั่งถอดรองเท้าจองก็มีให้เห็นกันมากมาย สาเหตุที่ต้องหาตัวช่วยคงหนีไม่พ้นเรื่องเวลาชีวิต ที่ไม่ได้มีมากพอให้หมดไปกับการรอตลอดวัน หากมีตัวช่วยที่สามารถสร้างมูลค่าของเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ก็คงดีไม่น้อย 


ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิด ‘Application QueQ’ (แอปพลิเคชันคิวคิว) ขึ้นมา ใครที่นิยมทานอาหารในห้างสรรพสินค้าน่าจะพอเคยเห็นหรือเคยใช้บริการแอปพลิเคชัน QueQ ในการจองคิวกันมาบ้าง หลายคนอาจไม่รู้ว่าแอปพลิเคชัน QueQ นี้ถูกสร้างโดยคนไทย ในนามของบริษัท Software House ชื่อ YMMY ที่มีคุณ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ เป็น CEO และบริษัท QueQ (ประเทศไทย) รังสรรค์เคยเล่าว่าต้นกำเนิด Startup อย่างแอปพลิเคชัน QueQ มาจากตอนที่ตัวเองกำลังรอคิวธนาคารในช่วงปลายปีที่ใช้เวลานานมากกว่าจะได้ทำธุรกรรม เขาจึงเกิดความคิดว่าหากมีแอปจองคิวธนาคารขึ้นมาก็คงดี น่าจะช่วยให้บริหารเวลาได้มากขึ้น เขาเริ่มต้นไอเดียทำแอปจองคิวธนาคาร ทว่าระหว่างทางกลับมองเห็นธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผู้บริโภคใช้บริการจำนวนมากซึ่งจะทำให้เกิดการรับรู้และการทดลองใช้แอปในวงกว้างได้รวดเร็วกว่า คุณรังสรรค์เลยเปลี่ยนสายจากสายธนาคารเป็นร้านอาหารแทน


ระบบจัดการคิวอัจฉริยะผ่าน ‘Application QueQ’ ถือเป็นผู้ช่วยที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถพกผู้ช่วยการจองคิวไปได้ทุกที่ แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รอคิวแต่ก็สามารถจองและบริหารเวลาในระหว่างรอได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังใช้งานง่ายและเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ทำให้แอปพลิเคชัน QueQ ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ ทั้งนี้ทางบริษัทจะเริ่มขยายการบริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงยังพยายามเจาะไปยังตลาดต่างประเทศในอนาคตอันใกล้


การเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์จะถูกแทนที่ด้วยการบริหารจัดการเวลาอย่างคุ้มค่าของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังช่วยบอกจำนวนคิวก่อนหน้า เพื่อให้เราคาดการณ์เวลาที่ใช้ในการจัดการธุระก่อนหน้าคิวที่จองไว้ได้ เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนใหม่ที่ควรทำความรู้จักเอาไว้ แม้ในยามที่ต้องไปไหนมาไหนคนเดียวก็ไม่ต้องยืนรอคิวเหงา ๆ อีกต่อไป


ความสำเร็จจากวงการร้านอาหาร ทำให้แอปพลิเคชันคิวคิวก้าวสู่ตลาดภาครัฐภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความหนาแน่นของสถานที่ราชการที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งเริ่มที่โรงพยาบาล ในการช่วยตรวจสอบคิวและการเข้าถึงการจองคิวล่วงหน้า การแสดงผลหน้าห้องตรวจเพื่อใช้สำหรับการแสดงผลเรียกคิว ตัวแอปพลิเคชันเองอาจไม่ได้ทำให้เราได้เจอหมอหรือรับการรักษาเร็วขึ้น แต่ทำให้เราสามารถจัดสรรเวลาที่อาจจะยาวนานถึง 4-5 ชั่วโมง โดยนำเวลาที่รอไปทำอย่างอื่นแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังมีระบบและชุดตรวจสอบและออกบัตรคิวเพื่อให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการลงทะเบียน ขั้นตอนให้คำปรึกษา ขั้นตอนการตรวจเลือด เอ็กซเรย์ การรับยา จนกระทั่งขั้นตอนการจ่ายเงินอันเป็นการสิ้นสุดกระบวนการ 


การเข้าใช้บริการโรงพยาบาลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนสามารถจัดสรรเวลาแทนการนั่งรออย่างไม่มีจุดหมาย ลดความแออัดของพื้นที่สำหรับรองรับผู้ป่วยใน ช่วยประหยัดทรัพยากรสำหรับโรงพยาบาล และบุคลากรผู้ให้บริการเองก็สามารถให้บริการได้อย่างผ่อนคลายและเต็มที่ นับเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเหลือชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง 


การขยายขอบเขตมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับทางภาครัฐและโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนนี้ เป็นความตั้งใจในการแก้ปัญหาการแน่นขนัดของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดทั้งสองแบบ เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกและไม่ต้องเสียเวลาในการรออย่างไร้ประโยชน์


อนึ่ง ‘ระบบจัดการคิวอัจฉริยะผ่าน Application QueQ’ นี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการดำเนินโครงการอันก่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมดังกล่าว ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญสำหรับส่งเสริมการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อเป็นตลาดซื้อขายที่สำคัญ สร้างความเข้มแข็งให้กับของสตาร์ทอัพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและการเข้าถึงด้านข้อมูลของภาครัฐ โดยมีกระบวนการทดสอบระบบเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาการแน่นขนัดของภาครัฐที่ได้จริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจทำการจัดซื้อจัดจ้างหลังจบโครงการเพื่อพัฒนาระบบต้นแบบในการกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อันนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภาครัฐ (Government Technology) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไปในอนาคต



ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

คุณ สุทธิรักษ์ ดวงบุรงค์ นักส่งเสริมนวัตกรรม (Open Innovation) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ