สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“Prodigy Finance” สตาร์ทอัพพันล้าน ที่เริ่มต้นจากปัญหา ‘อยากเรียนต่อ แต่ไม่มีต้นทุน’

บทความ 15 มีนาคม 2564 2,653

“Prodigy Finance” สตาร์ทอัพพันล้าน ที่เริ่มต้นจากปัญหา ‘อยากเรียนต่อ แต่ไม่มีต้นทุน’


การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นหนึ่งเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนอกจากความรู้ที่จะได้รับ ยังช่วยให้เติบโตในหน้าที่การงานและหมายถึงเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินทองมากเพียงพอจะไล่ตามฝันตัวเองได้โดยไม่เดือดร้อน


Cameron Steven คือหนึ่งในคนที่เจอปัญหาดังกล่าว หลายคนอาจมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคือปัญหาใหญ่ แต่สำหรับตัวเขาเองกลับเห็นว่า ‘ช่องว่างด้านการศึกษา’ นี้ คือโอกาสการทำธุรกิจครั้งสำคัญ Cameron ตัดสินใจกระโดดเข้ามาศึกษาอินไซท์ของปัญหาให้ลึกขึ้น ก่อนจะพบว่ามีผู้คนอีกกว่า 60% ที่ต้องเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้เข้าก่อตั้ง “Prodigy Finance” สตาร์ทอัพด้านสินเชื่อ ที่มุ่งมั่นจะพัฒนา “นวัตกรรมการเงิน” เพื่อช่วยทลายกรอบ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา’ ให้คนทั่วโลก


สิ่งที่ Cameron พัฒนาขึ้นคือระบบการปล่อย “สินเชื่อเพื่อการศึกษา” แบบเต็มวงเงิน ครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ให้กับใครก็ตามที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (Post Graduate) ที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย นโยบายสาธารณะ และการบริหารธุรกิจ กับ 750 สถาบันการศึกษาในเครือข่ายของ Prodigy Finance


จุดเด่นที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Prodigy Finance เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นั่นคือ ข้อเสนอที่ไม่เคยมีสถาบันการเงินหรือบริษัทสินเชื่อไหนทำมาก่อน เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดๆ แค่ประมาณ 6 – 8% ซึ่งปกติแล้วตามท้องตลาดจะอยู่ที่ 12 – 25 % ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดในโลก นานถึง 20 ปี และที่สำคัญคือสามารถเรียนก่อน ผ่อนทีหลัง เพราะจะเริ่มนับเวลาผ่อนชำระงวดแรกหลังจากที่จบการศึกษาไปแล้ว 6 เดือน ช่วยให้ผู้กู้ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินผ่อนระหว่างเรียน แถมยังมีเวลาหางานหลังเรียนจบได้


ข้อจำกัดของการกู้ยืมมีเพียงอย่างเดียวคือ ผู้กู้จะต้องมาจาก 150 ประเทศที่กำหนด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยทุกคนสามารถยื่นเรื่องได้ง่ายๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และใช้เอกสารประกอบไม่ต่างจากการกู้เงินกับสถาบันการเงินทั่วไป แถมยังไม่จำเป็นต้องมีบุคคลค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด


แล้ว “สตาร์ทอัพ” สินเชื่อที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ เอาเงินมากมายจากไหนมาให้กู้ยืม ? คำตอบคือ Prodigy Finance เปิดระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนโอกาสด้านการศึกษาคนรุ่นใหม่ ผ่านการขายสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่าง “หุ้นกู้” (Bond) อายุ 5 ปี ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกลับอย่างสม่ำเสมอ 4% ต่อปี ซึ่งมีความแตกต่างจาก “หุ้น” ที่มีความเสี่ยงสูงกว่ามาก เพราะผูกอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัท 


นอกจากนี้ Prodigy Finance ยังมีมาตรการรับมือการ “โดนหนีหนี้” ที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นว่าเงินกู้ที่ถูกปล่อยออกไปจะไม่กลายเป็นหนี้สูญ โดยทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเครดิตบูโร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ของทุกประเทศในเครือข่าย และในกรณีที่ถูกหนีหนี้ จะสามารถติดตามตัวได้ผ่านหลักฐานการเดินทางเข้าออกประเทศ การทำงาน การชำระภาษี หรือการใช้จ่ายเงินของผู้กู้ได้ ก่อนจะยื่นเรื่องเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ Prodigy Finance มีสัดส่วนการชำระคืนหนี้สูงถึง 99%


ปัจจุบัน Prodigy Finance ได้รับเงินลงทุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท และให้การสนับสนุนการศึกษาคนรุ่นใหม่มากถึง 19,000 คนทั่วโลก ซึ่งกว่า 60% ของศิษย์เก่าที่เคยได้รับเงินกู้ไป ตัดสินใจนำเงินกลับมาลงทุนกับ Prodigy Finance เพื่อให้คนอื่นๆ มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในแบบที่พวกเขาเคยได้รับเช่นเดียวกัน นับว่าเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่เข้ามาผลักดันและช่วยสร้าง Ecosystem ด้านการศึกษาที่เท่าเทียมอย่างจริงจัง


นี่เป็นอีกหนึ่ง “นวัตกรรมการเงิน” ที่มีจุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาในสังคม ซึ่ง NIA เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมดีให้กับสังคมได้ และถ้าคุณคือหนึ่งคนที่มีไอเดียดีๆ และอยากต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง NIA กำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการ Open Innovation สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://open.nia.or.th… ไม่แน่ว่าสักวันคุณจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยให้ที่ดียิ่งขึ้นเช่นกัน