สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
6 ความเปลี่ยนแปลงหลังยุค COVID-19 ที่คนทำธุรกิจต้องตามให้ทัน ผ่านสายตา “โอฬาร วีระนนท์” นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย
“COVID-19 เปลี่ยนแปลงโลก จนเราแทบตามไม่ทัน”
การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นครั้งสำคัญระดับโลก หลายสิ่งที่เราคุ้นเคยและดูเป็นมาตรฐานโลกใบเก่า อาจถูกทดแทนด้วย “ความปกติใหม่” (New Normal) อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน สภาพเศรษฐกิจและสังคม วงการธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น
วันนี้ NIA ขอชวนทุกคนไปเปิดมุมมองของ “คุณบอม – โอฬาร วีระนนท์” นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กันว่า ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการนวัตกรรม เทคโนโลยี และธุรกิจสตาร์ทอัพ หลังจากวิกฤต COVID-19 นี้กันบ้าง ? ไปติดตามพร้อมกันเลย
ท้ายที่สุด มนุษย์จะกลับไปโหยหาและยึดโยงกับธรรมชาติ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) กล่าวไว้ว่า “Look deep into nature, and then you will understand everything better” หรือ “จงมองให้ลึกลงไปในธรรมชาติ แล้วเราจะเข้าใจทุกอย่างดีขึ้น”
จากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น แต่อาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ในหลายพื้นที่ และจะเกี่ยวข้องกับทุกวงการอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะกับนวัตกรรม FinTech ซึ่งจะถูกพัฒนามาเชื่อมโยงกับการสร้างเศรษฐกิจแนวบีซีจี (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ที่เน้นความสมดุลและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ นวัตกรรม และธรรมชาติไปพร้อมกัน
ความโปร่งใส เชื่อมั่น เข้าถึงได้ คือหัวใจที่คนต้องการ
ท่ามกลางกระแส COVID-19 โลกเราเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยนวัตกรรม โดยมี “5G data networks” เป็นตัวเร่งความเร็วและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ตามมาคือ “ผู้คนต้องการความมั่นใจในการก้าวเข้าสู่โลก ดิจิทัล”
Sector ที่จะถูกพูดถึงและต้องอาศัยพละกำลังจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันเปลี่ยนแปลง คือ นวัตกรรมภาครัฐ (GovTech) เราจะเห็นการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการภาครัฐ ซึ่ง FinTech เข้ามามีบทบาทเป็นอันดับต้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การจ่ายเงินชดเชยผ่านแอปฯ กระบวนการธุรกรรมออนไลน์ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งการลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ หรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
รวมถึง “Blockchain” และ “DLT : Distributed Ledger Technology” ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้นทั้งในระดับประเทศ และย่อยลงมาถึงภาคธุรกิจและประชาชน เช่น กระทรวงพลังงาน เริ่มนำ Blockchain มาใช้ในการดูแลการซื้อขายปาล์มน้ำมันสำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และมีแนวโน้มขยายต่อไปในหลากวงการ ทั้งการศึกษา อีคอมเมิร์ซ อสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาเมืองและชุมชน ให้มีความปลอดภัย โปร่งใส และทุกคนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ร่วมกัน
เร็ว แต่ไม่ประมาท พลาดได้ แต่ไม่เจ็บหนัก
หัวใจในการทำธุรกิจยุคต่อไป ทั้งธุรกิจ Startup SMEs และบริษัทนวัตกรรมต่างๆ คือ “การปรับตัว” เพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ รวมถึงขยายธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้คนได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่เทรนด์การทำธุรกิจโดยใช้แนวคิด “คิดเร็ว ทำเร็ว ร่วมมือกัน” ขององค์กรเล็กและใหญ่ จะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า New Project ที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง และมี Market Size ที่ใหญ่พอที่จะชดเชยความสูญเสียจากผลกระทบของวิกฤตที่ผ่านมา
คุณค่าของชีวิตจะไม่ใช่แค่เงิน แต่คือสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และครอบครัว
หนึ่งวลีเด็ดที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ได้แก่ ”New city infrastructure to facilitate a new way of work” หรือก็คือโครงสร้างการทำงานแบบใหม่ เพื่อตอบรับการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม
เราจะเห็นเทรนด์ของการทำงานแบบ “Remote Work” ที่แม้จะไม่เข้าออฟฟิศ ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้ดี รวมถึงกระแส “Well-being & HealthTech” ที่ผู้คนตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงคำว่า “Human Augmentation” ที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาเพิ่มศักยภาพทั้งในการทำงาน ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น
โลกจริงและโลกเสมือน เกี่ยวเนื่องกันอย่างแนบชิด
จะมีคนมากมายที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ที่เชื่อมโยงโลกจริงและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการใช้ AR (Augmented Reality) VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality) เพื่อให้ผู้คนเปิดทุกประสาทสัมผัส และได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย (Multiexperience)
ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจ การตลาด และการพัฒนาใหม่ๆ เหล่านี้ จะเริ่มกระจายและเป็นที่นิยมแทบทุกวงการ ไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมบันเทิง และอุตสาหกรรมเกมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการการศึกษา สาธารณสุข การเงิน กีฬา ฯลฯ
AI ไปทุกที่
เราได้ยินคำว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) กันมาสักพัก แต่จะเห็นชัดขึ้นในยุคนี้ และไปทุกที่จริงๆ ทั้งการนำ AI มาปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป นำมาป้องกันวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ หือนำ AI มาเชื่อมโยงกับวงการกีฬา ศิลปะ HR การพัฒนาการเกษตร สวนอุตสาหกรรม การค้าขายระหว่างเทศ และการจ้างงานในหลายรูปแบบ ฯลฯ
นอกจากนี้ เมื่อมีคำว่า AI สิ่งที่ต้องตามมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือข้อมูลจากมวลชน (Crowd Data) เพราะด้วยตัว AI นั้น ต้องการข้อมูลเป็นอาหารเพื่อทำให้เติบโต ฉลาดขึ้น วิเคราะห์ สังเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น จึงทำให้กระบวนการออกแบบการเก็บข้อมูล วิธีการเก็บ เชื่อมโยง แสดงผล ที่เป็นมาตรฐานนั้นจะถูกนำมาพูดถึงในวงกว้างอย่างจริงจังมากขึ้น