สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

แนวทางจัดการ “ขยะพลาสติก” ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

บทความ 24 กุมภาพันธ์ 2563 16,718

แนวทางจัดการ “ขยะพลาสติก” ที่ไทยไม่ควรมองข้าม


80 ล้านใบ… คือปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของคนกรุงเทพฯ ต่อวัน! โดยยังไม่นับรวมขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็มีนโยบาย รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติกที่แตกต่างกันไป ซึ่งวันนี้ NIA จะพาไปส่องไอเดียการจัดการขยะพลาสติกที่ต่างประเทศนำมาใช้ และประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะพลาสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม


ตัวอย่างเช่น “ประเทศไอร์แลนด์” ชาติแรกที่เริ่มต้นเก็บภาษีถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2002 โดยช่วงที่นโยบายออกมาใหม่ๆ ถุงพลาสติกตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้ามีราคาสูงถึง 9 เพนนี (ประมาณ 5 – 6 บาทในช่วงนั้น) จนคนในประเทศต้องเปลี่ยนพฤติกรรม และนำถุงผ้าหรือถุงใช้แล้วมาใช้ซ้ำใหม่ ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้ถุงลงไปได้สูงถึง 90% และเป็นต้นแบบให้อีกหลายประเทศทั่วโลกนำไปปรับใช้กัน


กลับกันในบางประเทศ ซึ่งเลือกใช้ไม้แข็งมากกว่าแค่การเก็บค่าถุงพลาสติก เช่นใน “ประเทศบังกลาเทศ” ที่เคยประสบวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายครั้ง เนื่องจากขยะพลาสติกไปอุดตันท่อระบายน้ำ จนทำให้รัฐบาลถึงขนาดบังคับใช้กฎหมายแบนการผลิตและแจกจ่ายถุงพลาสติก และหากฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับสูงถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 62,000 บาท) ซึ่งแม้จะดูรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ทำให้ประชาชนเริ่มลดใช้การใช้และไม่ทิ้งถุงพลาสติกตามท้องถนนได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์


อีกแนวทางที่น่าสนใจ คือวิธีการปลูกฝังจิตสำนึกลดการใช้และวัฒนธรรมการแยกขยะแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างใน “ประเทศญี่ปุ่น” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านเมืองที่สะอาดสะอ้าน มองไปทางไหนก็แทบไม่เห็นขยะ นั่นเพราะ โรงเรียนในญี่ปุ่น มีการสอนวิธีการแยกขยะจนเป็นนิสัย ตั้งแต่เด็กเข้าเรียนชั้นประถม รวมถึงรัฐบาลยังออกกฎหมายให้ทุกบ้านต้องคัดแยกและทิ้งขยะอย่างถูกวิธี โดยจะกำหนดทั้งวิธีการทิ้งอย่างถูกต้อง ประเภทขยะที่นำมาทิ้งได้ในแต่ละวัน จุดทิ้งขยะ และระเบียบการเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ในรอบสัปดาห์ จนทำให้ประชาชนทุกคนซึมซับพฤติกรรมรักความสะอาดไปแบบไม่รู้ตัว


รวมถึงการหยิบเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นตัวช่วยในการจัดการขยะพลาสติก เช่น นวัตกรรมตู้คืนขวดของ “ประเทศเยอรมนี” ซึ่งถูกนำมาตั้งไว้ ตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่ให้ทุกคนสามารถนำขวดพลาสติกเปล่า มาเปลี่ยนคืนเป็นเงินได้ ซึ่งนอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้คนนำขวดเก่ามารีไซเคิลแล้ว ยังช่วยให้รัฐบาลลดรายจ่ายและลดเวลาในการจัดการขยะพลาสติกนี้ลงได้อีก


และถ้าจะหาประเทศที่มีระบบการจัดการขยะพลาสติกที่ล้ำที่สุด คงหนีไม่พ้น “ประเทศสวีเดน” เพราะไม่ใช่แค่ระบบการมัดจำขวดและถุงพลาสติก และกฎหมายการคัดแยกขยะที่ถูกนำมาใช้ แต่รัฐบาลสวีเดนให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกมาเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ “ท่อลำเลียงขยะอัตโนมัติ” ที่เชื่อมตรงจากทุกบ้าน เข้ากับศูนย์รวบรวมขยะใต้ดิน “นวัตกรรมแยกขยะ 7 สี” ที่แยกประเภทของขยะที่ถูกนำมาทิ้งได้เองจากสีของถุงขยะ ซึ่งถูกนำมาใช้ในการแยกขยะกับทุกครัวเรือน รวมถึงอีกหลายนวัตกรรมที่ใช้แปลงขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อนให้กับคนในเมือง และด้วยทั้งหมดนี้ทำให้สวีเดนสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 99% เลยทีเดียว


สำหรับประเทศไทยเอง นับว่าเพิ่งเริ่มตื่นตัวกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคหลายคนจะยังไม่ชินและมีเสียงบ่นให้ได้ยินกันอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้สำหรับใครที่มีไอเดียการจัดการขยะแบบใหม่ๆ และอยากร่วมช่วยสังคมไทย ลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ NIA กำลังเปิดให้การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกในหลายมิติ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NIAThailand/posts/2706373492733293