สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ” เปิดมุมความคิดแห่งตลาดนวัตกรรมภาครัฐ

บทความ 25 กันยายน 2562 3,803

“คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ” เปิดมุมความคิดแห่งตลาดนวัตกรรมภาครัฐ


ทุกวันนี้นวัตกรรมนับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในระดับครัวเรือน ระดับองค์กร หรือแม้แต่ในระดับมวลชน แต่รู้หรือไม่ว่าในระดับมหภาคเองก็ต้องพึ่งพานวัตกรรมภาครัฐ ในการทำงานเพื่อมอบสิ่งที่ดีกว่าในแก่ประชาชนเช่นกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่อย่าง “คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ” ผู้เป็นทั้งนักวิชาการด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด (Oxford) และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม New Dem ที่มุ่งประสานพลังเลือดเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน พร้อมเปิดรับแนวคิดที่หลากหลายอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ได้ให้มุมมองต่อการผลักดันตลาดนวัตกรรมภาครัฐ (Government Market) ให้เติบโตกว่าที่เคย แสดงความคิดเห็นถึงการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 43 ตามดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Index Innovation : GII) ในปี 2562 นี้ ไม่นับว่าน่าพึงพอใจเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเสมือนผู้นำในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดจะพบว่าตัวชี้วัดในด้านที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาคเอกชนอยู่

เร่งปรับปรุงระบบโครงสร้างการปกครอง 3 ระดับ

อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหามีทางออกเสมอ และสำหรับทางออกของปัญหานี้คุณพริษฐ์มองว่าควรแก้โดยอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นสำคัญ กล่าวคือภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงระบบโครงสร้างการปกครองที่สำคัญ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับองค์กร


สำหรับระดับประเทศ ต้องเริ่มจากการเข้าใจระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยก่อน เพราะมีข้อมูลที่ชี้ชัดอยู่ว่าการส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีจะส่งผลต่อระดับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน โดยสามารถเริ่มปลูกฝังค่านิยมนี้ได้จากเรื่องง่าย ๆ อย่างการจัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายในชั่วโมงเรียน เช่น จัดโต๊ะให้เป็นวงกลมเพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเท่าเทียมกับทั้งผู้เรียนด้วยกันและครูผู้สอนจนกล้าเสนอมุมของตนเองมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขณะเรียนรู้มากขึ้น


ส่วนในระดับภูมิภาค คุณพริษฐ์สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางไปยังทั่วประเทศ เพราะสิ่งหนึ่งที่เขาเล็งเห็นจากการได้ลงพื้นที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา คือ แต่ละจังหวัดล้วนมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ที่เข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็นคนในพื้นที่ การสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการบริหารส่วนภูมิภาคจึงอาจสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่น่าสนใจขึ้นได้ เหมือนกับที่ภาคเอกชนและคนรุ่นใหม่ในจังหวัดขอนแก่นมีส่วนร่วมในการนำเสนอแผนการทดลองเดินสายรถประจำทางอัจฉริยะ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องลดอำนาจรัฐบาลส่วนกลางเพื่อให้คนท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมของตนได้มากขึ้น


ส่วนสุดท้ายที่ลืมไม่ได้ คือ การปรับปรุงโครงสร้างระดับองค์กร โดยลดความสำคัญของระบบอาวุโสลง กระจายอำนาจการตัดสินใจให้พนักงานทุกตำแหน่งได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งคุณพริษฐ์มองว่าองค์กรที่กำลังริเริ่มขับเคลื่อนแนวคิดนี้ ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดได้จัดงานนวัตกรรมและให้พนักงานได้ร่วมกิจกรรมเสนอแผนงานกันอย่างเสรี มีทั้งพนักงานทั่วไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดที่เข้าร่วม และเป็นพนักงานทำความสะอาดกลุ่มดังกล่าวนั่นเองที่ใช้ประสบการณ์จากการทำงานมาพัฒนาต่อยอด และเสนอนวัตกรรมรักษาความสะอาดในห้องน้ำที่น่าสนใจให้คุณพริษฐ์ต้องทึ่ง

4 แนวทางส่งเสริมให้เกิดตลาดนวัตกรรมภาครัฐ

ทั้งนี้แล้วคุณพริษฐ์ยังเสริมในฐานะผู้มองโลกในมุมใหม่อีกว่านอกจากจะสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนำหลักประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้แล้ว ภาครัฐต้องไม่ลืมกระจายอำนาจไปยังประชาชนด้วย 4 แนวทางที่จะส่งเสริมให้เกิดตลาดนวัตกรรมภาครัฐอย่างแท้จริง ดังนี้


1. นวัตกรรมไม่ควรเป็นเรื่องที่มีเพียง NIA เป็นผู้สนับสนุน แต่ควรให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนของหน่วยงานรัฐได้เข้ามาทำความเข้าใจความหมายของนวัตกรรมและร่วมพัฒนาไปด้วยกัน


2. ภาครัฐต้องสนับสนุนระบบการศึกษาที่มุ่งเสริมทักษะ ทั้งด้านการสื่อสาร ด้านการคิดวิเคราะห์ ด้านการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อวงการนวัตกรรมระดับประเทศ


3. ภาครัฐต้องริเริ่มสร้างระบบจูงใจด้วยผลตอบแทน (Reward System) เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนอยากเริ่มสร้างสิ่งที่ดีให้แก่สังคม เช่นเดียวกับที่รัฐบาลประเทศสิงคโปร์มีนโยบายมอบเงินรางวัลตอบแทนให้แก่องค์กรที่นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จริงจนเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวองค์กรเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง


4. เชิดชูผู้เป็นต้นแบบ (Role Model) การนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้จริงจนประสบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นให้องค์กรอื่นตื่นตัวและเริ่มเห็นความสำคัญของนวัตกรรมมากขึ้น


ซึ่งเป็นแง่มุมที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม แนวคิดของคุณพริษฐ์ ได้สะท้อนมุมมองต่อการผลักดันตลาดนวัตกรรมภาครัฐ (Government Market) ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐเท่านั้นที่ควรเล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและสนับสนุนภาคส่วนอื่นโดยมีแนวทางของคุณพริษฐ์เป็นแม่แบบ แต่ภาคเอกชนและประชาชนเองก็ควรนำหลักการที่ประยุกต์ใช้ได้จริงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วยอีกแรงหนึ่ง เพื่อให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยต่อยอดการทำงานของทุกภาคส่วนของไทยให้ก้าวข้ามผ่านสู่สังคมแห่งอนาคตไปร่วมกับตลาดโลกได้ในอนาคต

.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 


คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ          นักการเมืองหนุ่มและนักวิชาการด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์จากอ็อกฟอร์ด
                                        ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม New Dem
                                        อดีต Junior Project Manager บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ McKinsey & Company 


หนังสือ 10th Year NIA: Toward Innovation Nation