สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

4 เรื่อง Online Payment ที่คนทำธุรกิจ “ออนไลน์” ไม่ควรมองข้าม

บทความ 27 มิถุนายน 2563 11,371

4 เรื่อง Online Payment ที่คนทำธุรกิจ “ออนไลน์” ไม่ควรมองข้าม


“ช้อปปิ้งออนไลน์” หนึ่งโมเดลธุรกิจที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จ่ายออนไลน์เพราะความจำเป็น ทำให้ธุรกิจทุกประเภท ต้องหันมาทำตลาดและจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งสิ้น


แต่แค่ทำ “เว็บไซต์” หรือ “แอปฯ” ให้ลูกค้าใช้อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะงานวิจัยการตลาดออนไลน์ของ Baymard พบว่า ลูกค้าถึง 75.6% ที่เข้ามาใช้บริการกลับออกไปมือเปล่า เพียงเพราะวิธีการจ่ายเงินยุ่งยากซับซ้อน และไม่รองรับการใช้งานตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ 


และวันนี้ NIA รวบรวมข้อแนะนำจากงานวิจัยของ PwC เกี่ยวกับการพัฒนา “ระบบการชำระเงินออนไลน์” (Online Payment) ที่จะช่วยลดปัญหา “จ่ายเงินยาก” ให้ผู้ที่กำลังทำธุรกิจออนไลน์ได้ลองไปปรับใช้กัน ไปติดตามกันเลย

มี “ตัวเลือก” การชำระเงินที่หลากหลาย

สมัยนี้วิธีการชำระเงิน ไม่ได้มีแค่ โอนเงินผ่านธนาคาร หรือตัดผ่านบัตรเท่านั้น เพราะด้วยเทคโนโลยีด้าน Payment Gateway ที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการชำระเงินต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ ทั้งระบบกระเป๋าเงินออนไลน์ (e-Wallet) การใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Scan) บริการช่องทางการชำระเงินมาตรฐานระดับโลก อย่าง PayPal Worldpay Stripe รวมไปถึงผู้ให้บริการการชำระเงินด้วยคะแนนสะสมอื่นๆ แทน เช่น xCash Omise ChomCHOB ฯลฯ ซึ่งจากการสำรวจความต้องการนักช้อปออนไลน์พบว่า กว่า 50% อยากเห็นตัวเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย และยิ่งทำให้มีโอกาสปิดการขายสำเร็จมากขึ้นไปด้วย

ดีไซน์ “วิธี” การจ่ายเงินให้ง่ายที่สุด

ลองจินตนาการว่า ถ้าจะกดจ่ายเงินสั่งซื้อของสักที แต่ต้องมานั่งสมัครสมาชิก กรอกข้อมูลมากมาย สลับหน้าจอไปมาให้วุ่นวาย จะชวนปวดหัวและพาลทำให้อยากเลิกใช้บริการมากแค่ไหน หนึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการออกแบบ Payment Journey ให้สั้น และเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็น การให้ลูกค้ากรอกเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น และพยายามจบขั้นตอนการจ่ายเงินทั้งหมดในแพลตฟอร์มของเราเอง เช่น เชื่อม API กับธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถล็อกอินบัญชีบัตรเครดิตหรือยืนยัน OTP โดยไม่ต้องสลับไปที่แอปฯ ธนาคาร เพิ่มฟีเจอร์ “จดจำรูปแบบการจ่ายเงิน” สำหรับลูกค้าเก่าที่กลับมาซื้อประจำ เป็นต้น

อย่าปล่อยให้ “ความปลอดภัย” เป็นอุปสรรค

เป็นเรื่องปกติของผู้บริโภค ที่จะรู้สึกไม่สบายใจ หากต้องแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับ “เงิน” ซึ่งผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 5 จะตัดสินใจล้มเลิกการสั่งซื้อออนไลน์ทันที หากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดูไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น แม้ว่าผู้ให้บริการอย่างเราจะไม่สามารถเปิดเผยกระบวนการด้านความปลอดภัยในการชำระเงินให้กับผู้บริโภคได้ทั้งหมด แต่การติดป้ายสัญลักษณ์ (Badge) มาตรฐานการชำระเงินออนไลน์สากล รวมถึงการเลือกเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์รับชำระเงินที่น่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็มีส่วนช่วยคลายความกังวลให้กับผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

รองรับการช้อปผ่านทุก “อุปกรณ์”

การซื้อของหรือบริการออนไลน์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นบน “สมาร์ทโฟน” หรือ “แท็บเล็ต” มากกว่าการเข้าเว็บไซต์จากในคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากเราเป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่ไม่มีแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับสมาร์ทโฟน และยังจำเป็นต้องใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางการขายหลัก การพัฒนาหน้าต่างการชำระเงินแบบ Responsive Web Design เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้ตัวเว็บไซต์ สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามขนาดหน้าจอของอุปกรณ์แล้ว ยังช่วยให้การใช้งานลื่นไหล ดาวน์โหลดได้รวดเร็ว รวมถึงยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับการค้นหาบน Search Engine อันดับต้นๆ อีกด้วย