สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รวมปัจจัยพื้นฐานต้องมี! เพื่อชี้ชัดว่าเมืองนี้คือ “เมืองนวัตกรรม”

บทความ 17 มิถุนายน 2565 2,553

รวมปัจจัยพื้นฐานต้องมี! เพื่อชี้ชัดว่าเมืองนี้คือ “เมืองนวัตกรรม”

 

พร้อมสรุปให้! “เมืองนวัตกรรม” ที่ดีต้องมีปัจจัยพื้นฐานอะไรบ้าง ?

ในวันที่กรุงเทพมหานครกำลังมุ่งสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน จากนโยบายและการดำเนินงานของผู้ว่าฯ คนใหม่ที่กำลังน่าจับตามอง อีกมุมหนึ่งก็กำลังมีแผนการพัฒนาเมืองหลายแห่งให้เป็นเมืองนวัตกรรมหรือย่านนวัตกรรม โดยมี NIA เป็นหัวหอกสำคัญในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละเมือง ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ขอนแก่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือแม้แต่ในหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เช่น อารีย์ โยธี ปุณณวิถี กล้วยน้ำไท ฯลฯ เพื่อกระจายองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค อันนำมาสู่การช่วยให้แต่ละเมืองมีการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีมากยิ่งขึ้น

แต่เชื่อว่าหลายคนยังมีข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วเมืองนวัตกรรมคืออะไรกันแน่ แล้ว NIA มีหลักเกณฑ์พื้นฐานอะไรเพื่อชี้ชัดว่าเมืองไหนคือเมืองนวัตกรรม เพราะแต่ละเมืองก็มีความโดดเด่นที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องของทรัพยากร ศักยภาพของผู้คนในพื้นที่ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการบริหารงานในภาคท้องถิ่นและความร่วมมือของชุมชน

เริ่มตั้งแต่นิยามคำว่า “เมืองนวัตกรรม” อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ “เมืองที่มีระบบนิเวศเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม” พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ซึ่งต้องอาศัย Innovative Startup และ Innovative SME ร่วมกับการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการสร้าง Innovative Ecosystem ขึ้นมา สำหรับปัจจัยพื้นฐานที่เมืองนวัตกรรมต้องมี NIA ก็ได้มีรายละเอียดหลักเกณฑ์ ดังนี้

นโยบายและบริหารจัดการภาครัฐดี

มีการส่งเสริมให้เมืองเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยมีการเชื่อมโยงทางนโยบาย (Policy Coherence) ของภาครัฐในระดับต่างๆ จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในการมุ่งเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองแห่งนี้ให้เป็นเมืองนวัตกรรม

• สนับสนุนผู้ประกอบที่สร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น
• สร้างภาคีระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม โดยมีโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมที่มีภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

โครงสร้างพื้นฐานดี

• มีพื้นที่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไอเดีย โดยจำเป็นต้องมีความถี่ของการจัดงานที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนอย่างเพียงพอ มีจุดนัดพบและพื้นที่สืบค้นข้อมูลข่าวสาร
 • เป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกในการผลิตสินค้าและบริการ เอื้อต่อการทดสอบตลาด เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีความรู้ในเมืองแห่งนี้ได้

สถาบันการศึกษาดี

• ให้บริการข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ โดยมีกรณีตัวอย่างที่สะท้อนความสำเร็จของผู้ประกอบการผ่านการให้ความรู้ของสถาบันการศึกษานั้นๆ
• จัดฝึกอบรมหลักสูตรที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ โดยมีความถี่ในการจัดงานอย่างสม่ำเสมอ

ความร่วมมือของภาคเอกชนดี

• เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์นวัตกรรม เช่น การจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าและบริการใหม่ๆ (Marketplaces) รวมถึงเทศกาล (Festivals) ที่ไม่ใช่ตลาดถาวรหรือตลาดนัดที่ขายของทั่วไป
• สร้างการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่ากว่าเมืองหนึ่งจะกลายเป็นเมืองนวัตกรรมได้ ต้องอาศัยกลไกการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ และนี่เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเป็นเมืองนวัตกรรมเท่านั้น เพราะยังมีการประเมินศักยภาพของเมืองด้วยตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไปอีกตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ เมืองนวัตกรรมที่ทั่วถึง (Inclusive Innovative City) เมืองนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Innovative City) และเมืองนวัตกรรมที่เชื่อมโยง (Connected Innovative City) ซึ่งเป็นสิ่งที่ NIA จะมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาต่อไปหลังจากที่ได้ปักหมุดหมายเมืองต่างๆ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมได้สำเร็จ

ข้อมูลจาก : คู่มือแนวทางการใช้งานดัชนีวัดศักยภาพของเมืองในการเป็นเมืองนวัตกรรมที่ทั่วถึง ยั่งยืนและเชื่อมโยง โดย สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nia.or.th/City-Innovation-Index-by-NIA-CMU