สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ลงพื้นที่ประชุมความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี เพื่อหาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ 2567

News 4 พฤศจิกายน 2566 30

NIA ลงพื้นที่ประชุมความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี เพื่อหาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ 2567

NIA visits the meeting area_1.jpg

 
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยจัดการนวัตกรรมภาคใต้ชายแดน ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำทีมเข้าหารือกับ นางเปรมวดี สันหนู ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) เพื่อประชุมแนวทางการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้และเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
 
ในการประชุม NIA ได้มีการนำเสนอผลการดำเนิน "โครงการการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ 2566" และแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน (DeepSouth Innovation Business Coaching Program) ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยระหว่างการพูดคุยได้มีการแลกเปลี่ยนถึงการดำเนินภารกิจที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันระหว่าง NIA กับ ศอ.บต. อาทิ แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การยกระดับการทำธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการขยายโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการผ่านกลไกการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ด้วยการบูรณาการงานร่วมกัน
 
นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการทำธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปัตตานี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายผลทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการดำเนินงานร่วมกันด้วยการเร่งการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมเข้าสู่การแข่งขันทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบของผู้ประกอบการที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพออกบูธหรือกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกันเพื่อสร้างการรับรู้และเกิดโอกาสการขยายตลาดมากยิ่งขึ้น การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการจัดแสดงผลงานการจับคู่ธุรกิจกับสถานทูตในกลุ่มประเทศอาเซียนตะวันออกกลาง และกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป