สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับ TCEB จัดโครงการ Thailand’s MICE Startup

News 4 กรกฎาคม 2562 3,710

NIA ร่วมกับ TCEB จัดโครงการ Thailand’s MICE Startup


เปิดมิติใหม่การพัฒนาธุรกิจไมซ์ จัดแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ ดึงผู้แข่งขันนานาชาติประลองไอเดียผุดนวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รับกระแสโลกยุคดิจิทัล 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ดิจิทัล เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลที่มีเป้าหมายนำไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทีเส็บมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่มุ่งเน้น 3 เป้าหมายหลัก คือ การสร้างรายได้ การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และการสร้างความเจริญกระจายรายได้ 

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ซึ่งหากมีเครื่องมือทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนจะมีโอกาสเติบโตได้อีกถึงปีละ 20% ทีเส็บมองเห็นโอกาสการสร้างพันธมิตรใหม่ที่มีความแข็งแกร่ง และขยายการรับรู้เกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ไปสู่สตาร์ทอัพหรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้ไมซ์เป็นแพลทฟอร์ม นำไปสู่การพัฒนาวงจรของธุรกิจไมซ์ให้กว้างออกไปและเข้มแข็งขึ้น มีช่องทางสร้างธุรกิจใหม่ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ต่อยอดการจัดงานไมซ์ให้ดียิ่งขึ้น และแข่งขันในธุรกิจไมซ์นานาชาติได้อย่างยั่งยืน” 

ทีเส็บ เริ่มโครงการ Thailand’s MICE Startup ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีในการจัดอีเวนท์ด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ NSTDA เพื่อเป็นเวทีพัฒนาธุรกิจ แบ่งปันความรู้ความเข้าใจในธุรกิจไมซ์กับเครือข่ายด้านนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างเวทีกิจกรรมและการจัดงานไมซ์ด้วยนวัตกรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ (Business) นักออกแบบ (Designer) และนักพัฒนา (Developer) ร่วมระดมความคิดนำไปสู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไมซ์และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 

โครงการ Thailand’s MICE Startup เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลกจำนวน 47 ทีม ทั้งจากไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเช็ก อินเดีย ฯลฯ โดยมีโจทย์ให้นำเสนอไอเดียนวัตกรรมการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ การให้บริการลูกค้า การขนส่งสินค้า และการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้งานในธุรกิจไมซ์ จากนั้นได้คัดเลือกเพียง 12 ทีม โดยเกณฑ์การตัดสินพิจารณาจากนวัตกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โมเดลธุรกิจมีความยั่งยืนทางการเงินอย่างมั่นคง ผู้ก่อตั้งมีความรับผิดชอบเข้าร่วมในกิจกรรมของโครงการ ความเป็นทีมเวิร์ค ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ผู้เข้ารอบทั้ง 12 ทีมจะแข่งขันนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีแก่ธุรกิจไมซ์ต่อคณะกรรมการในรอบพิจารณาตัดสินในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เพื่อคัดเลือกผู้ชนะ 3 ทีมที่โดดเด่นเข้าสู่ “โครงการบ่มเพาะ Thailand’s MICE Startup” ด้วยความร่วมมือกับอิมแพคเทค (ไทยแลนด์) โดยทั้ง 3 ทีมจะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการพัฒนาไอเดียเป็นเทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในธุรกิจไมซ์และนักลงทุนให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นทีมผู้แทนประเทศไทย นำเสนอผลงานในการแข่งขันรอบสุดท้ายในงานประชุมของสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

.

ทางด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง และเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านโครงการบ่มเพาะ การให้ทุนสนับสนุน รวมถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไมซ์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีช่องทางและโอกาสในการเติบโต โดย NIA และ TCEB มีความร่วมมือในการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน และยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อมุ่งสร้างภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทยให้มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม ผ่านการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลกและก้าวสู่ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของอาเซียน รวมถึงการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมให้แก่บุคลากรทุกระดับในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในฐานะเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)

สำหรับการจัดกิจกรรมการประกวดการแข่งขันไอเดียนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์ในครั้งนี้ NIA เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งการบ่มเพาะเสริมสร้างความสามารถ และการสนับสนุนให้เกิดการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านเครือข่ายของ NIA ในระบบนิเวศสตาร์ทอัพทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ”

นอกจากนี้ ทีเส็บยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เริ่มตั้งแต่การร่วมเป็นกรรมการคัดเลือก Startups ไปจนถึงการส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มความรู้และความแข็งแกร่งให้ผู้ชนะทั้ง 3 ทีมตลอดโครงการ รวมถึงสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติกับสมาคมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของสิงคโปร์ หรือซาซิออส (SACEOS) จัดโปรแกรมแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันในหัวข้อ “การพัฒนานวัตกรรมและ Startups ในธุรกิจไมซ์” ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2562 นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในโครงการพัฒนา Startups ร่วมกันในอนาคต เช่น การแลกเปลี่ยน Startups (Startups Exchange Program) การแลกเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรม และการเปิดโอกาสให้ Startups จากทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยนนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติ

“การบูรณาการทำงานพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์ร่วมกับพันธมิตรครั้งนี้ นอกจากจะช่วยตอบโจทย์การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไมซ์ไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสตาร์ทอัพใหม่ๆ สร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและเครือข่ายเหล่าผู้นำสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในเวทีระดับนานาชาติอีกด้วย” ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวสรุป

โครงการ Thailand’s MICE Startup เริ่มขึ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สมัครจากทั่วโลกจำนวน 47 ทีม ทั้งจากไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฯลฯ โดยมีโจทย์ให้นำเสนอไอเดียนวัตกรรมการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ การให้บริการลูกค้า การขนส่งสินค้า และการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้งานในธุรกิจไมซ์ และคัดเลือกผู้เข้ารอบเพียง 12 ทีม ซึ่งมานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการในงานนี้

สำหรับผู้รับรางวัล 3 ทีม ได้แก่
👍ทีมอันดับ 1 SNEAK
สตาร์ทอัพแพลทฟอร์มวางแผนการท่องเที่ยวด้วยรูปภาพ
👍ทีมอันดับ 2 Mindstree
สตาร์ทอัพที่มุ่งให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว
👍ทีมอันดับ 3 Potioneer
สตาร์ทอัพระบบที่ช่วยให้ผู้หลงใหลในอาหารและเครื่องดื่มค้นพบงานกินดื่มสุดเอ็กซ์คลูซีฟได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้ง 3 ทีมจะได้เข้าสู่ “โครงการบ่มเพาะ Thailand’s MICE Startup” ด้วยความร่วมมือกับอิมแพคเทค (ไทยแลนด์) เพื่อเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาไอเดียเป็นเทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไมซ์และนักลงทุนให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นทีมผู้แทนประเทศไทย นำเสนอผลงานการแข่งขันรอบสุดท้ายในงานประชุมของสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้