สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ไขไอเดีย “MyBand” ผู้พิชิตปัญหาลิขสิทธิ์เพลง

บทความ 30 มกราคม 2563 4,525

ไขไอเดีย “MyBand” ผู้พิชิตปัญหาลิขสิทธิ์เพลง

จากปัญหาที่คนทั่วไปมองข้ามอย่างเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ กลายมาเป็นไอเดียสร้าง “MyBand” ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดนตรีฝีมือคนไทย ที่วันนี้เติบโตไปแล้วกว่า 1000% และยังถือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ในการจองดนตรีแบบถูกลิขสิทธิ์เจ้าแรกของโลกอีกด้วย เส้นทางธุรกิจนี้จะเป็นมาอย่างไร วันนี้ NIA ชวน “คุณก้อง - กรรณ ศิธาพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท มายแบนด์คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด มาแชร์ประสบการณ์ที่น่าสนใจและเต็มไปด้วย Passion ให้กับทุกคนได้ฟังกัน 


เส้นทางในวงการดนตรีของคุณก้องเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร ด้วยการฟอร์มวงดนตรีอิสระร่วมกับเพื่อนๆ และรับจ้างเล่นดนตรีตามร้านอาหาร ผับและบาร์หลายแห่ง จนกระทั่งมีคอนเนกชันมากมาย เมื่อเรียนจบ ตนจึงมีโอกาสได้ลองทำงานที่ทั้งสนุกและท้าทายเกี่ยวกับดนตรี ตั้งแต่งานโปรดักชัน งานซาวด์มิกซ์ ไปจนถึงงานอีเวนท์ออแกไนซ์ ที่ต้องจัดงานและช่วยหาวงดนตรีมาแสดงตามความต้องการของลูกค้า


จากการโลดแล่นอยู่ในแวดวงดนตรีกว่า 10 ปี คุณก้องเองพบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงถือเป็น Pain Point สำคัญที่คนเบื้องหลังงานดนตรีแทบทุกคนต้องประสบ และทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ หลายคนหมดกำลังใจ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียธุรกิจ “MyBand” แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการจองวงดนตรีไปเล่นตามงานแบบถูกลิขสิทธิ์ ที่ช่วยรักษาสิทธิ์ของคนที่ทำงานด้านดนตรี ขณะเดียวกันก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักร้อง นักดนตรี และผู้จัดงานอีเวนต์อย่างครบวงจร 


โดย MyBand ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ผู้จัดงานอีเวนต์ สามารถเข้าไปจองวงดนตรีคุณภาพได้อย่างสะดวกสบายผ่านช่องทาง www.myband.co.th ตลอดจนมีทีมงานจาก MyBand ไปคอยช่วยดูแล ณ วันงาน ทั้งในเรื่องของการดูแลศิลปินและการรันคิวต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องนักดนตรีมาสายหรือเบี้ยวงาน ที่สำคัญคือนอกจากการดูแลศิลปินและวงดนตรีแล้ว MyBand ยังจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลง กลับคืนไปให้กับนักแต่งเพลงและทีมเบื้องหลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย


อย่างไรก็ตาม กว่า MyBand จะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างในวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณก้องถึงขนาดต้องออกจากงานดนตรีประจำเพื่อทุ่มเวลาทั้งหมดมาพัฒนา MyBand ขึ้น และต้องใช้เวลาร่วมปีในการเจรจากับองค์กรด้านลิขสิทธิ์เพลงต่างๆ ให้มาเป็นพาร์ทเนอร์ได้ โดยช่วงเดือนแรกที่เริ่มเปิดให้บริการจริง MyBand กลับไม่มีลูกค้าเลยซักคนเดียว กระทั่งห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งต้องการวงดนตรีมาเล่นในงาน โดยต้องมีหนังสือรับรองลิขสิทธิ์เพลง และไม่มีใครสามารถตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ ก่อนจะมาเจอกับ MyBand บนอินเตอร์เน็ตและลองใช้บริการเป็นครั้งแรก และเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก


จนถึงทุกวันนี้ MyBand มีวงดนตรีและศิลปินค่ายเพลงดังอยู่ในแพลตฟอร์มรวมแล้วถึง 500 วง ครอบคลุมลิขสิทธิ์เพลงไทยและเพลงสากลรวมแล้วกว่า 10 ล้านเพลง รวมถึงมีงานจ้างมากกว่า 1,000 งาน/ปี แต่สำหรับคนที่เข้าใจกระบวนการเบื้องหลังงานดนตรีแบบคุณก้อง ความสำเร็จของ MyBand ไม่ใช่แค่ตัวเลขการเติบโตกว่า 10 เท่า แต่คือความฝันที่ต้องการลดปัญหาด้านลิขสิทธิ์เพลง และสร้างรายได้ให้กับคนเบื้องหลังงานดนตรี เพื่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพในธุรกิจดนตรีได้อย่างยั่งยืน


นับว่า MyBand เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพจากการสนับสนุนของ NIA ที่จุดประกายความสำเร็จของคำว่า “สตาร์ทอัพ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นเจ้าของธุรกิจทำกำไร แต่ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมที่ตนรักไปพร้อมกันได้อีกด้วย