สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

How to บริหาร “สุขภาพจิต” ช่วงวิกฤต COVID-19

บทความ 7 เมษายน 2563 9,995

How to บริหาร “สุขภาพจิต” ช่วงวิกฤต COVID-19


นี่คือเหงา นี่แหละเหงา… แม้การเว้นระยะห่างทางสังคม จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสตัวร้ายไปได้ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นสาเหตุให้หลายคนเริ่มรู้สึก “เหงา” เพราะไม่ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง เหมือนอย่างในช่วงสถานการณ์ปกติ


และหากเราไม่รู้จักการบริหารสุขภาพจิตอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เราเป็นโรคเครียด ย้ำคิดย้ำทำ ไปจนถึงอาการพารานอยด์ และสร้างบาดแผลทางจิตใจได้ในระยะยาว วันนี้ NIA จึงรวบรวมแนวทางช่วยบริหารสุขภาพจิตให้ “แฮปปี้” ได้แม้จะต้องเก็บตัวในช่วง COVID-19 ระบาด มาให้ทุกคนได้ลองทำตามกัน

คุยกับเพื่อนๆ และคนสนิทอยู่เสมอ

ถึงจะต้องเก็บตัว แต่เราก็ยังสามารถเจอหน้าและพูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่านแชทแอปพลิเคชันได้ตามปกติ โดยแนะนำว่าให้พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึง COVID-19 และเปลี่ยนไปคุยกันในเรื่องทั่วไป อย่างการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ แชร์ Playlist เพลง ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ที่ชอบ หรือลองหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันผ่านฟีเจอร์สนุกๆ เช่น นัดรับประทานอาหารกลางวันผ่าน Video Call ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ จะช่วยคลายความรู้สึกโดดเดี่ยวและบรรเทาจากความเครียดในแต่ละวันได้

ยึดกิจวัตรเดิมที่เคยทำให้มากที่สุด

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันบางอย่างไปบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องปรับการใช้ชีวิตประจำวันไปเสียทุกอย่าง ทางที่ดีที่สุดคือ ให้คงกิจวัตรประจำวันแบบหลวมๆ เช่น แม้เราจะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปออฟฟิศในตอนเช้า แต่การตื่นนอน และรับประทานอาหารในช่วงเวลาเดิมก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และคุ้นเคยกับกิจวัตรเดิมๆ รวมถึงยังช่วยบริหารสุขภาพจิตให้ดีไปในตัวด้วย

อย่าปล่อยตัวเองจมอยู่กับความเบื่อหน่าย

แค่คิดว่าต้องอยู่แต่ในบ้านคงจะทำให้จิตใจห่อเหี่ยว แนะนำว่าให้ลองสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในบ้าน เช่น การจัดห้องนอนใหม่ หรือเปลี่ยนมุมทำงานไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน หรืออาจใช้เวลาช่วงนี้ ลองทำสิ่งทำไม่เคยได้ทำมาก่อน เช่น ออกกำลังกายง่ายๆ ลงเรียนคอร์สออนไลน์ที่ชอบ อ่านหนังสือเล่มโปรดให้จบ ฯลฯ

ติดตามข่าวสารแต่พอดี

การเสพข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่การรับรู้ข้อมูลมากเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำแนวทางการติดตามข่าวสารที่เหมาะสม ได้แก่

.

- ติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น หน่วยงานรัฐบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขระดับประเทศ

- กำหนดเวลาในการติดตามข่าวเพียง 1-2 ครั้ง ในแต่ละวัน เช่น ในช่วงเช้าและช่วงก่อนนอน เป็นต้น เพื่อป้องกันการเสพสื่อมากเกินจนรู้สึกแพนิก 

- ไม่ส่งต่อข่าว ที่ถูกได้รับมาจากในแชทแอปพลิเคชัน เนื่องจากมีโอกาสเป็น Fake News สูง

- สังเกตข่าวที่อ่านให้ละเอียด โดย Fake News ส่วนมาก มักจะมีพาดหัวข่าวที่สะดุดตาและใช้คำหวือหวา เช่น ด่วน กรุณาแชร์ต่อ หรือคำที่มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) 

ออกไปสัมผัสโลกภายนอกบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแนะนำว่า อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่แค่ในตัวบ้าน แต่ให้หาเวลาสั้นๆ ออกไปเดินเล่นในพื้นที่ใกล้ๆ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราได้ขยับเนื้อตัวแล้ว ยังช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ และช่วยลดการสร้างฮอร์โมนความเครียดได้ด้วย แต่อย่าลืมว่าต้องเตรียมความพร้อมและระมัดระวังขณะออกไปข้างนอก โดยสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ รีบล้างมือและชำระร่างกายให้สะอาดทันทีหลังกลับมาจากกลับมาจากนอกบ้าน

มองหาตัวช่วยดูแลสุขภาพจิต

หากรู้สึกว่ามีความเครียดสะสมและหาทางออกไม่ได้ การปรึกษาจิตแพทย์จะช่วยดูแลรักษาสุขภาพจิตได้ถูกวิธีที่สุด แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนมาใช้ตัวช่วยอย่าง OOCA Relationflip หรือ ChiiWii ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการพบแพทย์ทางไกล ที่สามารถจองคิวคุณหมอและขอรับคำปรึกษาได้ผ่านสมาร์ทโฟน ด้วยระบบ Video Call โดยไม่ต้องเดินทางไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล