สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ฟังเสียงท้องทุ่งแบบ “ListenField” จากนักวิจัย สู่สตาร์ทอัพไทย ที่ให้บริการกว่า 5 ประเทศ

บทความ 11 สิงหาคม 2564 2,463

ฟังเสียงท้องทุ่งแบบ “ListenField” จากนักวิจัย สู่สตาร์ทอัพไทย ที่ให้บริการกว่า 5 ประเทศ


สตาร์ทอัพไทยเดินทางไกลด้วยนวัตกรรมการเกษตร 


ทุกวันนี้จะมีสตาร์ทอัพไทยสักกี่รายที่เติบโตแล้วกว่า 5 ประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะสาย AgTech ที่เรียกได้ว่ามีความท้าทายสูงมาก  “ListenField” เป็นอีกสตาร์ทอัพหนึ่งที่ได้ปลูกเส้นทางความสำเร็จไว้แล้ว ด้วยนวัตกรรมที่เรียกว่า Predictive Farming Platform หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าทำได้อย่างไร วันนี้คุณนุ่น ผู้ก่อตั้ง ListenField มีคำตอบให้ทุกคนได้อ่านกัน


สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ListenField เป็นสตาร์ทอัพที่นิยามตัวเองว่าเป็น Integrated Predictive Agronomic Platform ซึ่งคือการใช้นวัตกรรมเข้ามาประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนาให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพมากขึ้น ผ่านบริการที่หลากหลาย อาทิ งานวิจัย การติดตั้งเซนเซอร์ในพื้นที่การเกษตร ไปจนถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม FarmAI ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรบันทึกความเคลื่อนไหวบนแปลงผลผลิตของตัวเองได้ พร้อมฟังก์ชันอีกมากมายที่จำเป็นต่อการทำการเกษตร


จุดเริ่มต้นของ “ListenField” เกิดมาจาก คุณนุ่นหรือ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ หนึ่งในนักวิจัยที่ได้ต่อยอดงานวิจัยของตัวเอง จากการศึกษาเรื่อง API Integration Platform ในช่วงที่กำลังศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น จนได้พัฒนามาเป็น Predictive Farming Platform อย่าง ListenField ขึ้นมา ในช่วงปี 2017 แล้วในปี 2019 ก็เข้ามาดำเนินธุรกิจที่ประเทศไทย


จนปัจจุบัน ListenField เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา มีเกษตรกรใช้บริการมากกว่า 10,000+ คน ซึ่งกว่า ListenField จะมาถึงในจุดนี้ได้ คุณนุ่นได้แบ่งปันประสบการณ์ วิธีคิด และมุมมองการทำงานมากับทาง NIA ไว้ดังต่อไปนี้

เริ่มต้นฟังปัญหาแล้วแก้ด้วย “Data”

การพัฒนานวัตกรรมหรือการทำสตาร์ทอัพโดยพื้นฐาน ทักษะที่จำเป็นคือการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นListenField พัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร การเก็บข้อมูลแปลงคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากปัญหาคือ การมีข้อมูลไม่มากพอหรือข้อมูลกระจัดกระจายไม่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เราก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้ตรงจุด 


โดยการแก้ปัญหาด้านการเกษตรในยุคนี้ ไม่ต้องใช้การคาดเดาแบบเมื่อก่อนแล้ว เพราะสามารถใช้ Data หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยวิเคราะห์การทำการเกษตรได้ทุกขั้นตอน 


คุณนุ่นเล่าว่า ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรให้ความสำคัญกับเรื่อง Data มาก ละเอียดถึงขนาดคำนวณการดูดซึมน้ำระหว่างที่น้ำลงไปในดิน ซึ่งประโยชน์ของการเห็นคุณค่าในเรื่อง Data ก็ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีราคามากขึ้นและตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค 

ฟัง Data แล้วต้องฟังเสียง "เกษตรกร"

“น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” สุภาษิตไทยเคยว่าไว้


การพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรไม่สามารถพัฒนาด้วยตัวคนเดียวได้ มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญที่สุดคือ “เกษตรกร” เพราะเสียงของเกษตรกรคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของ ListenField 


การลงพื้นที่เพื่อไปแบ่งปันข้อมูล รับฟังปัญหา แนะนำการใช้เครื่องมือ ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและสร้าง Ecosystem ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการลงพื้นที่จริงของ ListenField เกษตรกรไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ พร้อมเปิดรับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาก และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน 

ฟังไม่พอต้องพร้อม “ปรับตัว”

“ช่วงเริ่มต้นทำ ListenField ที่ประเทศไทยเราเริ่มต้นใหม่หลายอย่างเลย” คุณนุ่นเล่าให้เราได้ฟัง


บทเรียนครั้งสำคัญของ ListenField คือช่วงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มในประเทศไทย แม้ทรัพยากรเดิมที่มีจากประเทศญี่ปุ่นจะมีเยอะมากแล้ว แต่ด้วยปัจจัยสภาพอากาศ ดิน ความชื้น รูปแบบผลผลิต ต้นทุนของเกษตรกร นั้นแตกต่างกับที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องปรับทุกอย่างใหม่หมด 


การพัฒนาแพลตฟอร์มให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละประเทศเลยไม่ง่ายอย่างที่คิด จำเป็นต้องปรับตัวไปตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละประเทศ และใช้วิธีการที่แตกต่างกัน คนที่ทำสตาร์ทอัพหรือพัฒนานวัตกรรมก็ต้องพร้อมรับสิ่งนี้เอาไว้เลย 

ฟังทุกสิ่งแล้วสร้าง “ทีม” ที่มีเป้าหมายเดียวกัน

สำหรับการสร้างองค์กรในแบบ ListenField แม้พนักงานจะมีไม่มาก แต่คุณนุ่นได้บอกกับเราไว้ว่า ทีมคือสิ่งที่สำคัญ ทุกคนภายในทีมของ ListenField ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การได้นำนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น 


และตั้งแต่เริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ ก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่ Local Company แต่คือ Global Company ส่งผลให้ ListenField พร้อมที่จะขยายการบริการออกไปได้ในทุกพื้นที่และสามารถเชื่อมต่อเกษตรกรจากหลายประเทศให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้ 


จากมุมมองที่ได้จากคุณนุ่น จะเห็นได้ว่า การทำสตาร์ทอัพด้าน AgTech อย่าง ListenField ต้องผ่านการทดลอง ล้มลุกคลุกคลาน มาไม่น้อยเหมือนกับที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ทำสตาร์ทอัพว่ายากแล้ว การทำการเกษตรก็ยากไม่แพ้กัน”


แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เดินหน้าต่อไปได้ คือการพร้อมใช้วิธีการที่หลากหลายทั้ง การใช้เทคโนโลยี การลงพื้นที่ การจัดการทีม ไปจนถึงพร้อมที่จะปรับตัวอยู่ทุกเมื่อ การนำแพลตฟอร์มของตัวเองไปสู่การให้บริการใน 5 ประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝัน 


และหากคุณสนใจเรื่องราวของ ListenField ก็สามารถเข้าไปทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ที่ https://www.listenfield.com/ 


สตาร์ทอัพไหนหรือองค์กรใดที่อยากเปลี่ยนแปลงวงการเกษตรเหมือนกับที่ ListenField ได้ทำ NIA ก็พร้อมเปิดรับนวัตกรรมดีๆ ที่จะมาขับเคลื่อนวงการเกษตรหรือแวดวงอื่นๆ ต่อไป และไม่ใช่แค่การสนับสนุน NIA ยังมีเครือข่ายสตาร์ทอัพและพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งเป็นอีกโอกาสที่ทำให้นวัตกรรมของคุณได้เป็นที่รู้จักรวมถึงได้แบ่งปันองค์ความรู้ที่สร้างประโยชน์ร่วมกัน