สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดแนวคิด “Lifelong Kindergarten” บ่มเพาะการสร้างสรรค์ด้วยจิตวิญญาณแบบวัยเด็ก

บทความ 31 พฤษภาคม 2565 979

เปิดแนวคิด “Lifelong Kindergarten” บ่มเพาะการสร้างสรรค์ด้วยจิตวิญญาณแบบวัยเด็ก


ปลุกความเป็นเด็กในตัวให้กลับมาอีกครั้ง! กับแนวคิด “Lifelong Kindergarten”

"เราไม่ได้หยุดเล่นเพราะชรา แต่เราชราเพราะหยุดเล่น" จากคำพูดของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนบทละครชาวไอริช

เชื่อว่าทุกคนที่ได้เห็นประโยคนี้ต้องทำให้หวนนึกถึงความหลังสมัยเด็กกันบ้างไม่มากก็น้อย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเรียนรู้และการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมาอาจช่วงชิงความคิดสร้างสรรค์ของเราไปโดยไม่รู้ตัว แต่อย่าเพิ่งหมดหวังเพราะวันนี้เรามีแนวคิด “Lifelong Kindergarten” มาแนะนำเพื่อให้คุณได้สำรวจตัวตนภายในกันอีกครั้ง แล้วจะพบว่า ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด เราก็พร้อมมีอาวุธไว้ต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่รู้จักหยุดนิ่งนี้ได้

Lifelong Kindergarten” มีที่มาที่ไปอย่างไรและทำไมแนวคิดนี้ถึงมีความสำคัญ 

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ของ “Mitchel Resnick” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาจาก MIT Media Lab ซึ่งเขาพบว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดกับการเรียนรู้ของคนในปัจจุบัน คือการขาดพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะห้องเรียนมุ่งเน้นความรู้ที่อยู่แต่ในกรอบการแข่งขันด้วยการให้คะแนน และเป็นพื้นที่ที่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แม้มีการตอบโต้ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนก็ตาม ซึ่งพื้นที่เช่นนี้กำลังกลืนกินบรรยากาศการเรียนรู้ของคนในทุกระดับ รวมถึงห้องเรียนในระดับอนุบาลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความคิดสร้างสรรค์

เพื่อช่วงชิงพื้นที่สร้างสรรค์ให้กลับคืนมา เขาจึงได้รวบรวมประสบการณ์ที่มีกว่า 30 ปีใน MIT Media Lab สร้างชุมชนออนไลน์ที่ชื่อว่า “Scratch” หรือคอมมูนิตี้การเขียนโปรแกรมสำหรับเด็กขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 ผสานไปกับบทเรียนจากโครงการนวัตกรรมที่ร่วมมือกับบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง LEGO จนค้นพบแนวคิดหรือนวัตกรรมเชิงกระบวนการนี้ขึ้น ซึ่งสามารถขยายเพดานการเรียนรู้และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับทุกช่วงวัย โดยองค์ประกอบที่ทำให้เกิด Lifelong Kindergarten ได้นั้น จะประกอบไปด้วย 4P ดังนี้

Project” เรียนรู้ผ่านการสร้างผลงานจริง

การลงมือทำหรือการสร้างผลงานจริงด้วยตัวของคุณเอง คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา และได้สื่อสารออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ โดยสามารถแสดงออกมาได้หลายวิธีการ เช่น การเขียน การสร้างโมเดล การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเขียนโปรแกรม หรืออีกสารพัดวิธี เราจึงควรส่งเสริมให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีพื้นที่ได้แสดงตัวตนพร้อมสะท้อนออกมาได้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการสร้างผลงานครั้งนี้บ้าง

Passion” ความหลงใหลเพลิดเพลิน

ความหลงใหลในที่นี้ ไม่ใช่แค่ความชอบแต่คือการที่เราเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่ทำตรงหน้า โดยมีอิสระในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะพาไปถึงจุดที่เรียกว่า Passion หรือความหลงใหลได้ แม้ความสนใจนั้นจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ทุกคนมองข้าม แต่หากได้รับการสนับสนุน แม้ต้องพบกับความลำบาก แต่เราจะสนุกไปกับมัน โดย Mitchel Resnick เรียกสภาพแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ว่า “การเรียนแบบพื้นต่ำ เพดานสูง และกำแพงกว้าง” คือเริ่มจากทำอะไรที่ง่ายๆ ที่ตัวเองสนใจก่อน จากนั้นค่อยทดลองทำสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถหยิบจับวัตถุดิบรอบตัวเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่มีความหลงใหลแบบนี้ได้ รางวัลหรือเป้าหมายก็แทบไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะความสุขของเราคือการได้เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่ทำนั่นเอง

Peer” เพื่อนคู่คิด มิตรร่วมเล่น

เพราะไอเดียดีๆ มักเกิดขึ้นเมื่อเราได้แบ่งปันไอเดียกับคนอื่นๆ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยให้คนมาทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่พื้นที่นั้นควรเป็นพื้นที่ที่ให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือกัน และให้ความเคารพผู้อื่น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเลยก็คือ คอมมูนิตี้การเขียนโปรแกรมสำหรับเด็กอย่าง “Scratch” ที่ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการมาจนถึงตอนนี้ได้สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองแลกเปลี่ยนไอเดียจนเกิดเป็นไอเดียเจ๋งๆ มากมายนับ 50 ล้านโครงการ

Play” กล้าเล่น กล้าทดลอง 

เรามักมีภาพชินตาว่า “การเล่น” คือความสนุกสนานหรือเสียงหัวเราะจากเด็กๆ แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ภายในตัวเราทุกคน และการเล่นนั้นพาตัวเราไปไกลได้กว่าที่คิด เพราะการเล่นจะทำให้กล้าคิด กล้าทดลอง และขยายอาณาเขตการเรียนรู้ออกไปได้เรื่อยๆ แต่หัวใจสำคัญของการเล่นก็คือ คุณต้องทำในสิ่งที่ไร้แบบแผน ใช้แค่จินตนาการ กล้าเล่นสนุกไปกับการจับนั่นผสมนี่ เหมือนกับเด็กที่เล่นสนุกโดยไม่สนทฤษฎีใดๆ ฟังดูอาจเหมือนเป็นการเล่นแบบมั่วๆ ไม่มีแบบแผน แต่วิธีการเล่นแบบนี้เป็นเทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบสิ่งใหม่จำนวนมากใช้มาโดยตลอด เพราะคุณจะพบปลายทางที่คาดไม่ถึง และความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์

เมื่อได้เข้าใจถึงองค์ประกอบของแนวคิด Lifelong Kindergarten แล้วจะเห็นได้ว่าธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องแวดล้อมไปด้วยการมีพื้นที่ให้ได้ปล่อยของ มีอิสระในการคิด และได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งทาง NIA และโดยเฉพาะ STEAM4INNOVATOR ก็ได้มีโครงการที่ช่วยพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมในบรรยากาศเช่นนี้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นนวัตกรหรือคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้  

อ้างอิงข้อมูลจาก :
หนังสือเรื่อง “Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต” เขียนโดย Mitchel Resnick แปลไทยโดย วิชยา ปิดชามุก จากสำนักพิมพ์ Bookscape