สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
เบิ่งขอนแก่นให้ถึงแก่น Innovation Hub แดนอีสาน ศูนย์กลางการเกษตร อาหาร และไบโอเทค
ล้วงลึกให้ถึงแก่น! เส้นทางการพัฒนาย่านนวัตกรรมขอนแก่น พร้อมกับการเปิดตัว “Khon Kaen Innovation Center”
เบิ่งกัน #ว่าซั่น ! เพราะขอนแก่นไม่ได้มีดีแค่ส้มตำแซ่บๆ หมอลำสุดม่วนซื่น หรือเป็นถิ่นของนักมวยระดับโอลิมปิกเท่านั้น ในอนาคตขอนแก่นกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ จากเมืองวัฒนธรรม พระธาตุขามแก่น แหล่งรวมผ้าไหม สู่เมืองอัจฉริยะสุดล้ำศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการเกษตร อาหาร และไบโอเทค แต่พูดแค่นี้อาจยังไม่เห็นภาพ เราจึงมาเล่าให้ฟังแบบจัดเต็ม! ตั้งแต่จุดแข็งของขอนแก่น ลัดเลาะไปจนถึงแผนการสร้างศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ใจกลางภาคอีสานแห่งนี้
ทำไมขอนแก่นถึงเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม
“ขอนแก่น” เป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่าเป็น “Big Four of Isan” และถูกขนานนามว่าคือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 1,790,863 คน จากข้อมูลของกรมการปกครอง ปี 2564 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) แสนล้านบาทต่อปี และยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญดังต่อไปนี้
ด้านคมนาคมและการขนส่ง มีความเพียบพร้อมในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ระบบราง มีสถานีรถไฟรางคู่ลอยฟ้าที่สถานีบ้านไผ่ และมีแผนพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (TOD) สำหรับท่าอากาศยานขอนแก่นก็กำลังมีแผนพัฒนาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และมีถนนมิตรภาพซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของภาคอีสาน ทำให้ขอนแก่นพร้อมทุกการเชื่อมต่อด้านคมนาคมและการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ
ด้านการศึกษา มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีชื่อเสียงในระดับภูมิภาค สร้างบุคลากรมาแล้วมากมายในหลายสาขาครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงยังมีศูนย์วิจัยและสถาบันด้านเกษตรกรรมและอาหารมากมาย พร้อมให้นักศึกษาได้ทดลองและสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ Innovation Hub KKU
ด้านการเกษตร เรียกได้ว่าเป็นรากฐานชีวิตของชาวอีสานเลยก็ว่าได้ เพราะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม มีพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกว่า 4,218,584 ไร่ จากข้อมูลของ สศก. ปี พ.ศ. 2562 จึงไม่แปลกเลยที่จะมีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรมและมีการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารพลังงานทางเลือกจากแมลง
ด้านเศรษฐกิจ เกิดความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่แข็งแกร่ง เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดอีกมากมาย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งผลให้จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมสูงเพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมอีกแห่งของประเทศ
แนวคิดแผนพัฒนาย่านนวัตกรรมในจังหวัดขอนแก่น โดย NIA
จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่มี NIA และอีกหลายหน่วยงานจึงเดินหน้าสร้างแผนพัฒนาย่านนวัตกรรมในจังหวัดขอนแก่นร่วมกัน โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาย่านนี้ว่า “เมืองแห่งนวัตกรรมด้าน การเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ” ศูนย์กลางด้านการต่อยอดองค์ความรู้และเศรษฐกิจระดับนานาชาติ พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม” ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างเมืองที่น่าอยู่ ตอบรับกับสังคมที่มีความหลากหลาย
โดยเริ่มต้นที่แผนการพัฒนาย่านศรีจันทร์และกังสดาล ซึ่งทั้ง 2 จุดยุทธศาสตร์นี้มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. “กังสดาล หรือ KANGSADARN Livable Innovator Community” เป็นย่านบ่มเพาะ ส่งเสริมการพัฒนาคนและองค์ความรู้ เนื่องจากเป็นพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยทำให้เป้าหมายของพื้นที่นี้เน้นไปที่การสร้างพื้นที่ให้คนได้พบปะกันเป็นหลัก แลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกัน และพร้อมสร้างการเชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบให้เกิดการบ่มเพาะองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบขอนแก่น (TCDC: Khon Kaen) ก่อนนำไปต่อยอดธุรกิจที่ย่านศรีจันทร์
2. “ศรีจันทร์ หรือ SRICHAN Agri-Food-Biotech Innovation Center” เป็นย่านศูนย์กลางการต่อยอดนวัตกรรมการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากอยู่ในย่านชุมชนและมีบริษัทต่างๆ ตั้งอยู่จำนวนมาก รวมถึงเป็นพื้นที่ตั้งของสถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่รองรับแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคต (TOD) ทำให้พื้นที่นี้มีความพร้อมในการต่อยอดธุรกิจ สร้างพื้นที่ค้าขาย และในทางเดียวกันก็สามารถฟื้นคื้นความคึกคักให้กับคนในพื้นที่ได้
แนะนำ “Khon Kaen Innovation Center” ฮับนวัตกรรมแห่งใหม่ในภาคอีสาน
เริ่มแล้ว! สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นจริงอย่าง “Khon Kaen Innovation Center” ศูนย์นวัตกรรมด้านการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และไบโอเทค เป็นการนำทัพโดย กลุ่มมิตรผล (Mitr Phol Group) บริษัทผลิตน้ำตาลสัญชาติไทย และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดในทวีปเอเชีย และอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้ง NIA เองก็มีความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมนี้ด้วย
พลิกโฉมตึกร้าง “โฆษะ" ให้กลายเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ในจังหวัดขอนแก่น โดยหัวใจหลักของการสร้างพื้นที่คือ เป็นศูนย์นวัตกรรมที่เน้นการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation center) ให้กับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่นหรือทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดมาใช้บริการได้
โดยมุ่งเน้นไปที่ การเกษตรสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นฟาร์ม คือการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยต่อยอดผลผลิตด้านการเกษตร และผลผลิตนี้เองก็จะถูกต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และไบโอเทค ด้วยพื้นที่ห้องปฏิบัติการ 1,200 - 1,300 ตารางเมตร หรือกินพื้นที่ทั้งหมด 1 ชั้นครึ่งให้กับการวิจัยและการพัฒนาโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ Co-working Space ห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องเวิร์กช็อปจำนวนมาก เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ และ SMEs ที่มีแนวคิดเดียวกันให้มาแลกเปลี่ยนพบปะกัน จากผู้นำด้าน Co-working Space ในประเทศไทยอย่าง Glowfish คอยให้บริการ
แค่นี้ยังไม่พอ เพราะศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังมีพื้นที่โรงแรมเพื่อเตรียมพร้อมรองรับคนจากที่ต่างๆ บริการโดยโรงแรม Ad Lib ซึ่งจะอยู่พื้นที่ด้านบนสุดของอาคาร ชั้น 27-28 เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ที่ทันสมัย มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เห็นตัวเมืองขอนแก่นได้โดยรอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
และในเฟสถัดไปศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังมีแผนที่จะเปิดเป็นศูนย์ธุรกิจด้านบริการสุขภาพ (Wellness Clinic) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการ Medical Hub อยู่แล้ว ให้มีบริการที่ทันสมัยใจกลางเมือง ตอบโจทย์กับผู้มาใช้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมี บมจ.บ้านปูเข้ามาช่วยดูแลพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ภายในอาคารให้อีกด้วย และจะมีการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar System) และศูนย์บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่ออีกในอนาคต
เป็นอย่างไรกันบ้างกับทิศทางการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งหนึ่งของไทย เราเองก็หวังว่าแนวทางการพัฒนานี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง สร้างการเติบโตให้กับภูมิภาค และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งทั้งหมดมาจาก “แก่น” ของจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงเองทั้งสิ้น