สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ขอนแก่นกับ City Innovation สร้างเมืองที่ไม่ทอดทิ้งใคร

บทความ 27 มิถุนายน 2562 9,765

ขอนแก่นกับ City Innovation สร้างเมืองที่ไม่ทอดทิ้งใคร


เราทุกคนต่างวาดฝันถึงเมืองที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย เดินทางง่าย มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้เลือกใช้พร้อมสรรพ มีนวัตกรรมที่ชาญฉลาดรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย หลายคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคอนเซปต์ของเมืองในอุดมคติ มีอยู่จริงแค่ในความฝันเท่านั้น แต่โครงการ “Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” กำลังเนรมิตเมืองในฝันที่ว่านี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบนโลกแห่งความจริงแล้วที่จังหวัดขอนแก่น


แนวคิดการพัฒนาขอนแก่นให้กลายเป็น Smart City เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในจังหวัด ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของขอนแก่นที่อยู่บริเวณกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่นจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม และเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว คนในจังหวัดจึงต้องเจอกับปัญหามลภาวะ การจราจร การจัดการสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำตามมา 


บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Tank: KKTT) ซึ่งเกิดจากการรวมกันของภาคเอกชนของขอนแก่นมองเห็นแล้วว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางออกที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มจากระบบรถไฟฟ้าขนส่งรางเบา (Light Rail Transit System: LTR) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าอย่างเหมาะสมหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Transit Oriented Development) 


ระบบรถไฟฟ้ารางเบาของขอนแก่นถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมเส้นทางทั้งหมด 5 สาย  มีสายสีแดงเหนือ-ใต้เป็นสายแรกที่ได้รับการอนุมัติให้สร้างได้ สายนี้จะพาดผ่านพื้นที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่พาณิชย์ และสถานที่ราชการ ระบบรถไฟฟ้ารางเบาของขอนแก่นจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งช่วยกระตุ้นการคมนาคมขนส่ง ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกว่า 40,000 คน และช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ทางโครงการยังมีแผนสร้างสวนสาธารณะและบึงขนาดใหญ่ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อจัดสรรเป็นพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งสร้างแหล่งเรียนรู้อย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งให้คนในจังหวัดอีกด้วย


การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อมย่อมไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน การออกแบบโครงการรถไฟฟ้ารางเบาและการสร้างอาคารต่าง ๆ ของโครงการจึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โครงการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 ด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าประมาณร้อยละ 50 และไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicles) ที่ใช้สัญจรในเมือง ทางโครงการยังออกแบบอาคารให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน สอดรับกับแสงและสภาพอากาศเพื่อช่วยลดความร้อนในตัวอาคาร ทำให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก และยังนำน้ำเสียกลับมาบำรุงต้นไม้ต่ออีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นอีกทางหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงออกแบบและการพัฒนาเมืองอย่างถูกหลักนั่นเอง


ขอนแก่นเข้าใกล้การเป็นเมืองในฝันมากขึ้นได้เพราะการมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ของชาวขอนแก่น นี่คือเมืองที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แก้ไขปัญหาของเมืองใหญ่ได้อย่างครบครัน ทั้งลดมลพิษ ใช้พลังงานหมุนเวียน แก้ปัญหารถติด และช่วยให้คนในจังหวัดเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียม ขอนแก่นโมเดล จะเป็นตัวอย่างที่นำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเมืองใหญ่อื่น ๆ ของไทยได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อพัฒนาจังหวัดอื่น ๆ ให้เกิดความพร้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป


.

แหล่งที่มา :

https://www.khonkaenthinktank.com/project.php

https://www.youtube.com/watch?v=78GbB4h7xs0

https://www.youtube.com/watch?v=SEonM8vf7ng&feature=youtu.be

http://www.smartgrowththailand.org/khonkaen-smart-city-lrt/

https://www.youtube.com/watch?v=GgoYandkHBI