สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Innovation in Crisis Time : ทำความรู้จัก “นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต”

บทความ 29 เมษายน 2563 5,291

Innovation in Crisis Time : ทำความรู้จัก “นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต”


หากพูดถึง “นวัตกรรม” หลายคนอาจนึกถึงแค่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยอำนวยสะดวกสบายและเพิ่มสีสันในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดอย่าง การแพร่ระบาดของ COVID-19 เราคงได้รู้จักอีกหนึ่งบทบาทของคำว่านวัตกรรม ซึ่งเข้ามาช่วยจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกกันว่า “นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤติ”


“นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต” (Innovation in Crisis Time) คือนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดปัญหา หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นโดยเร็วที่สุด ลดผลกระทบและทิ้งความเสียหายในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ นวัตกรรมรับมือก่อนภาวะวิกฤต นวัตกรรมรับมือท่ามกลางภาวะวิกฤต และนวัตกรรมรับมือหลังภาวะวิกฤต


ถึงจะใช้คำว่า “นวัตกรรม” แต่ “นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต” นั้น มีความแตกต่างจากนวัตกรรมที่เราเคยใช้งานกันในเวลาปกติ เป็นต้นว่า “นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต” ส่วนมาก มักต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนของภาครัฐ องค์ความรู้ของสถาบันวิจัยและสถานศึกษา ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบริษัทเอกชน และความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาสังคม ซึ่งในวงการเทคโนโลยีเรียกกันว่า “นวัตกรรมเชิงระบบ” เช่น ระบบการติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ (Tracking) หรือนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วย ฯลฯ ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดองค์ความรู้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป


อีกหนึ่งความแตกต่างที่สำคัญ คือ “การปรับตัวที่รวดเร็วของตัวนวัตกรรม” ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น ระบบ AI แมชชีนเลิร์นนิ่ง IoT ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์วิกฤต ที่เปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน เช่น แผนที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 (COVID Tracker) ที่สตาร์ทอัพไทยทำขึ้น ซึ่งแตกต่างจากนวัตกรรมรูปแบบเก่า ที่ถูกพัฒนาขึ้นและปล่อยให้ผู้ใช้งานอย่างเราๆ ดาวน์โหลดมาใช้กันตามท้องตลาดทั่วไป


นอกจากนี้ เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม จากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมรับมือปัญหาใหม่ๆ เหล่านี้  เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth) ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤต COVID-19 และในอนาคตอาจเข้ามาทดแทนการเดินทางไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอถึงโรงพยาบาลก็เป็นได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่ามกลางวิกฤตการณ์นั้น มีให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่เข้ามาพลิกวงการ e-Commerce ชื่อดังอย่าง Alibaba ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ SARS หรือ Spotify สตาร์ทอัพที่เปิดตลาดสตรีมมิ่งเพลงในยุควิกฤตทางการเงินปี 2008 หรือ Hamburger Crisis


การเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤต เป็นสิ่งที่ Margareta Wahlström ทูตพิเศษด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN) ให้ความสำคัญไม่แพ้กับการเชื่อมความช่วยเหลือจากสาธารณะประเทศ เพราะเธอเชื่อว่าการมีนวัตกรรมที่ดี จะตอบโจทย์ทั้งในด้านการคาดการณ์เพื่อวางแนวทางป้องกัน ช่วยแก้ปมปัญหาและอำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติงานได้มากขึ้น และที่สำคัญคือการช่วยลดความเสียหายทางอ้อมที่มีมูลค่ามหาศาลและส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศ การขาดแคลนรายได้ การลดลงของนักท่องเที่ยว ฯลฯ 


ขณะที่ทั่วโลกเริ่มมีนวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีปัญหาภาวะวิกฤตอีกไม่น้อยที่ทวีความรุนแรง เช่น ปัญหาสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก การขาดแคลนทรัพยากรเพื่อผลิตเป็นพลังงาน มลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติธรรมชาติที่ทุกคนคาดไม่ถึง รวมถึงวิกฤตโรคระบาดอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่ง NIA กำลังเร่งผลักดันให้ “นวัตกรรมรับมือภัยพิบัติ” เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน สำหรับใครที่มีไอเดียนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตต่างๆ สามารถติดตามข่าวสารการขอรับทุนสนับสนุนได้เร็วๆ นี้