สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA เปิดเวทีสร้างความตระหนักนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านเวที Innovation Thailand Public Forum หัวข้อ EV-Innovation towards Innovation Nation

News 20 ธันวาคม 2567 275

NIA เปิดเวทีสร้างความตระหนักนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านเวที Innovation Thailand Public Forum หัวข้อ EV-Innovation towards Innovation Nation

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน Innovation Thailand Public Forum หัวข้อ EV-Innovation towards Innovation Nation เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation) และระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงแนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานชั้นนำในเครือข่ายระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation Ecosystem) ของประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา และสมาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคาร เกษร ทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งนายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA ร่วมงาน
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า "เป็นการสร้างเวทีให้สังคมไทยในวงกว้างเกิดความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation) และระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงแนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรมจากหน่วยงานชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation Ecosystem) ของประเทศไทย โดย NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด Groom-Grant-Growth-Global โดยมุ่งเน้นส่งเสริมนวัตกรรม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตร อาหาร และสมุนไพรมูลค่าสูง 2) กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ 3) กลุ่มการท่องเที่ยว 4) กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ และ 5) กลุ่มพลังงาน สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อมุ่งต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยให้เข้มแข็งและพร้อมร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมไปกับ NIA เพื่อผลักดันประเทศสู่การเป็นชาตินวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ NIA มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน “ธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว” ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มคาร์บอนต่ำ 2) กลุ่มพลังงานสะอาด และ 3) กลุ่มซัพพลายเชนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ผ่านกลไกการสนับสนุนเงินทุนรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนโครงการในกลุ่มดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมวงเงินสนับสนุนกว่า 190 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA แนะนำ “กลไลการสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรม” โดย NIA ได้ออกแบบและพัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงิน 7 กลไก เพื่อมุ่งพัฒนาการสร้างนวัตกรรมใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1. เกษตร อาหาร และสมุนไพร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. ท่องเที่ยว 4. ซอฟต์พาวเวอร์ 5. พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเพิ่มการสนับสนุนที่ช่วยให้สามารถนำนวัตกรรมไปสู่ตลาดให้มากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง โดย 7 กลไกประกอบด้วย 1. กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation) 2. กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) 3. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND) 4. กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing) 5. กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) 6. กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest) 7. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate Co-Funding)
 
ในช่วงเสวนาหัวข้อ “EV-Innovation Ecosystem in Thailand : Opportunities and Challenges” ที่เจาะลึกถึงโอกาสและความท้าทายในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย จากมุมมองของวิทยากรหน่วยงานชั้นนำ ได้แก่
 
• คุณตรีพล บุณยะมาน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นำเสนอมุมมองผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในแง่ของการปรับตัวในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปและสร้างความแตกต่างจากประเทศคู่แข่งว่า การปรับตัวได้ไวและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงจะเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการหน้าใหม่ นอกจากนั้น แม้จะมีนโยบายมาช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม แต่การจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็ต้องอาศัยการปรับตัวจากภาคเอกชนไม่น้อย ทั้งในด้านของเทคโนโลยี องค์ความรู้ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร
 
• คุณปรเมษฐ์ สงวนโชควณิชย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการด้านพลังงาน ได้กล่าวว่าโจทย์สำคัญในปัจจุบัน คือจะทำอย่างไรให้สถานีชาร์จสามารถบริการได้เร็วเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงสิทธิพิเศษ (Privilege) และความน่าเชื่อถือที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของบริการ และนำไปสู่การต่อยอดและการร่วมมือกันกับบริการต่าง ๆ เพื่อยกระดับการใช้งานให้แข็งแรงขึ้นมากกว่าเดิมในทุกมิติ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพคือต้องมองลึกไปถึงอุปสงค์ที่เกิดขึ้นและตอบสนองความต้องการเหล่านั้นอย่างตรงจุด จะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสัมฤทธิ์ผล
 
• คุณปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานกรรมการ บริษัท ไอ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด นำเสนอมุมมองของทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการในฐานะผู้มีประสบการณ์ได้นำเสนอแนวทางว่าประเทศจีนถือเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และถ้าอยากจะผลิตชิ้นส่วนส่งออกให้ประเทศจีน ผู้ประกอบการก็ต้องคำนึงถึงประเภทชิ้นส่วนที่เราจะส่งไปควบคู่กัน ว่าสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้ กระบวนการผลิตจากประเทศจีนมีความสามารถในการแข่งขันสูง ด้วยเหตุนั้น ผู้ประกอบการในไทยยังมีความท้าทายเฝ้ารออยู่ข้างหน้าไม่น้อย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถแข่งขันได้คือการหาช่องว่างทางตลาดที่ทำให้ผู้ผลิตไทยสามารถสอดแทรกตัวเองเข้าไปได้ แต่ท้ายที่สุดการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า
 
ช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาหัวข้อ “EV-Innovation Investment in Thailand” แนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากมุมมองของวิทยากรหน่วยงานชั้นนำ ได้แก่
 
• ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ในฐานะตัวแทนจากบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย กล่าวถึงจุดแข็งและความน่าดึงดูดในการลงทุนที่ประเทศไทยว่าเป็นไปตามกลยุทธ์ของ ‘Vast Ocean Plan’ ที่มุ่งหวังขยายธุรกิจไปนอกประเทศ โดยที่ประเทศไทยมีความน่าสนใจในหลายมิติ ตั้งแต่ในเชิงนโยบายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การนำเข้าและส่งออกที่เติมเต็มสิ่งที่ประเทศจีนไม่มี ขนาดของตลาด องค์ประกอบของอุตสาหกรรม และความคุ้มค่าในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศจีน และการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของฉางอานก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเรียนรู้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตไปต่อยอดในอนาคต
 
• คุณสยามณัฐ พนัสสรณ์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรมและการพัฒนาธุรกิจ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ฉายภาพถึงความเปลี่ยนแปลงจากจำนวนรถ BEV และ HEV ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่รถสันดาบสมบูรณ์จะมีจำนวนลดน้อยถอยลง ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมที่จะทำให้บุคลากรในห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัวและพัฒนาตาม แต่ในการที่จะต่อสู้ในอุตสาหกรรมได้ การเตรียมตัวและถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาบุคลากร เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการรับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
 
• คุณยอดกมล สุธีรพจน์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยในมิติของการลงทุนได้นำเสนอถึงเงื่อนไขจาก BOI ในการสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านแนวทางต่าง ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความท้าทาย นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการในไทยสามารถทำได้ คือการรักษาความสามารถของตนเองในการจะยืนอยู่ได้ในตลาด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ชิ้นส่วนไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ประกอบการในประเทศไทยเองก็มีหลายประเภทชิ้นส่วนที่เราทำได้ดีมาตลอด เพราะฉะนั้นการรักษามาตรฐานเดิมหรือแม้แต่ยกระดับเพื่อแข่งขันก็ถือเป็นเสาหลักสำคัญท่ามกลางความท้าทาย