สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ต่อชีวิตผู้ป่วยด้วย ‘Knock-down ICU AIIR’ ห้องแยกผู้ป่วย ‘ถอดประกอบได้’ ครั้งแรกในไทย

บทความ 16 กุมภาพันธ์ 2564 3,090


คุณภาพอากาศทุกวันนี้ ออกจากบ้านไปไม่กล้าสูดหายใจเต็ม ๆ ปอด เพราะต้องเจอทั้งฝุ่นควันและเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ อาจไม่ใช่แค่เป็นหวัดเป็นภูมิแพ้ แต่มีโอกาสเป็นหนักถึงขั้นติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค ซาร์ส รวมถึงโควิด-19 ซึ่งในผู้ป่วยเคสหนัก หากเกิดอาการทรุดขึ้นมา ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนสุด ๆ ในห้องที่ถูกออกแบบให้อากาศภายในสะอาดมาก ๆ ที่เรียกว่า “ห้องแยกผู้ป่วยวิกฤติแรงดันลบ สำหรับผู้ป่วยโรคติดต่อทางการหายใจ” (ICU AIIR)


แต่ทุกวันนี้ ICU AIIR มีไม่ถึง 10% ของห้องฉุกเฉินทั้งหมด ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และมีอยู่แต่ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น เนื่องจากราคาต่อห้องที่สูงหลายล้านบาท และแม้อยากจะต่อเติมเพิ่ม ก็ยังกินระยะเวลาก่อสร้างนานถึง 4-6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับโรงพยาบาลที่มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ด้วย Pain Point นี้ จึงเกิดเป็น “ห้องแยกผู้ป่วยวิกฤติแรงความดันลบแบบถอดประกอบได้” (Knock-down ICU AIIR) นวัตกรรมจากบริษัท “วินด์ชิลล์” ที่จะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น


“Knock-down ICU AIIR” คือ ห้องแยกผู้ป่วยวิกฤติความดันลบแบบ “ถอดประกอบได้” ที่สร้างเสร็จรวดเร็วภายใน 1-3เดือน เพราะใช้วิธีผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ สำเร็จรูป ด้วยวัสดุ Medical Grade แล้วนำไปประกอบกันที่หน้างาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทุบตึก ก่อผนังขึ้นมาใหม่เหมือนวิธีก่อสร้างทั่วไป และถ้าอยากจะขยายขนาดหรือย้ายตัวห้องไปยังส่วนอื่นของโรงพยาบาล ก็ทำได้ง่าย ๆ แค่ถอดแล้วนำไปประกอบใหม่ได้ทันที 


ชิ้นส่วนต่าง ๆ สามารถประกอบเข้ากันได้แนบสนิท ไม่มีรูรั่ว เพราะใช้วิธีขึ้นแบบและจำลองระบบการหมุนเวียนของอากาศด้วยคอมพิวเตอร์ 3D หรือที่เรียกว่า Building Information Modeling (BIM) ซึ่งมีความแม่นยำสูง พร้อมติดตั้งระบบกรองอากาศเข้า-ออก ด้วยฟิลเตอร์ HEPA ที่สามารถกรองฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่อาจเกาะมาด้วย ขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนขึ้นไปได้มีประสิทธิภาพถึง 99.99% และฆ่าเชื้อซ้ำด้วยแสง UV มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ ขณะที่คนภายนอกห้องไม่เสี่ยงติดเชื้อโรคที่อาจหลุดรอดออกมา 


ที่สำคัญค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% จากเดิม 3 ล้านบาท เหลือเพียง 1.5 ล้าน เพราะสามารถผลิตและติดตั้งได้ครบวงจรในประเทศไทย ไม่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนและวิศวกรช่วยติดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งงบประมาณที่สามารถประหยัดไปได้นี้ หมายถึงจำนวนห้อง ICU AIIR ที่จะเพิ่มขึ้น และช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วยได้เพิ่มอีกหลายชีวิต 


ปัจจุบัน Knock-down ICU AIIR ถูกนำไปใช้แล้วในโรงพยาบาลหลักที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และกำลังดำเนินการขยายผลไปยังโรงพยาบาลหัวเมืองใหญ่อื่น ๆ เพื่อให้คนที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลได้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม


นี่เป็นเพียงตัวอย่างในนวัตกรรมด้านการแพทย์ดี ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ยังมีมิติด้านการแพทย์อีกมากมาย ที่ต้องการแนวทางใหม่ ๆ มาช่วยแก้ปัญหาและยกระดับการให้บริการให้ดีขึ้น ถ้าคุณคือหนึ่งคนที่มีไอเดียดี ๆ NIA ก็พร้อมสนับสนุนให้ผลงานนวัตกรรมเกิดขึ้นจริง ติดตามข้อมูลทุนสนับสนุนได้ที่ mis.nia.or.th